เสด็จเลียบพระนคร (ตอนจบ)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

เสด็จเลียบพระนคร (ตอนจบ) – ฉบับวานนี้ (11 มี.ค.) “แรมจันทร์” ถามประวัติเป็นมาการเสด็จเลียบพระนคร เมื่อวานมีคำตอบถึงรูปแบบไปแล้ว วันนี้อ่านความรู้จากนักวิชาการกันต่อ

ยังมีข้อมูลจากรายงานเรื่อง “‘เสด็จเลียบพระนคร โบราณราชประเพณีใน ‘บรมราชาภิเษก” มติชนออนไลน์ ว่า เติมศรี ลดาวัลย์ ระบุไว้ใน “พิธีราชาภิเษกในประเทศไทย” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2517 ถึงการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารค ว่าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางบก โดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ วัตถุประสงค์ในการเสด็จเลียบพระนครเพื่อเสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธปฏิมากร ณ พระอารามหลวงสำคัญ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคลตามสถานที่ที่กำหนดไว้

เสด็จเลียบพระนคร (ตอนจบ)

 

การเสด็จเลียบพระนคร เป็น 1 ใน 5 ขั้นตอนหลักของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งได้แก่ 1.ขั้นเตรียมพิธี คือการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทำพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงมุรธาภิเษก ทำพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏดวงพระราชสมภพ อีกทั้งแกะพระลัญจกรประจำรัชกาล 2.พิธีเบื้องต้นคือ เจริญพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 3.พิธีบรมราชาภิเษก มีพิธีสรงมุรธาภิเษก แล้วประทับพระแท่นอัฐทิศอุทมพรรับน้ำอภิเษก ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐรับการถวายสิริราชสมบัติ และเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ 4.พิธีเบื้องปลาย อาทิ เสด็จออกมหาสมาคม และเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร และ 5.เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารค

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารคนี้ในสมัยโบราณก็ปรากฏในประเทศที่รับวัฒนธรรมอินเดียอันเป็นต้นกำเนิดของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งสืบเนื่องจาก “พิธีราชสูยะ” โดยแต่ละแห่งมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของพิธีไปตามขนบธรรมเนียมของตน เช่น เนปาล มีการเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนช้าง

เสด็จเลียบพระนคร (ตอนจบ)

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า การเสด็จเลียบพระนคร เป็นขั้นตอนสุดท้ายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีการบันทึกถึงการเสด็จเลียบพระนครใน “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม”

สำหรับธรรมเนียมยุคต้นรัตนโกสินทร์ ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีหลักฐานว่าเสด็จเลียบพระนครโดยออกทางประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง แล้วเลี้ยวขวาเลียบไปทางวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ หรือวัดโพธิ์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เพิ่มการเสด็จเลียบพระนครทางชลมารคขึ้น ซึ่งในรัชกาลก่อนหน้านั้นไม่เคยมี

“กระบวนเสด็จทางสถลมารคในรัชกาลต่างๆ โดยทั่วไป ประกอบด้วย เสลี่ยงเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ ตามด้วยแคร่เสนาบดี อย่างไรก็ตาม ในบางรัชกาลมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียด ส่วนเส้นทางกระบวนมีความใกล้เคียงกัน และเมื่อมีการบวรราชราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในช่วงท้ายของพระราชพิธีก็มีกระบวนเสด็จเลียบพระนครเช่นกัน โดยเมื่อกระบวนผ่านมาถึงพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ซึ่งรัชกาลที่ 4 ประทับอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ได้เสด็จลงจากพระราชยานแล้วถวายบังคม 3 ลา โดยในขบวนของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ประกอบด้วยขุนนางวังหน้า ในขณะที่ขบวนของรัชกาลที่ 4 เป็นขุนนางวังหลวง”

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการทำพิธีบรมราชาภิเษกเป็น 2 งาน คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ซึ่งมีขึ้นครั้งแรกในรัชกาลดังกล่าว เมื่อพ.ศ.2545 โดยในพิธีบรมราชาภิเษก มีการดำเนินตามโบราณราชประเพณี แต่งดการแห่เสด็จเลียบพระนครและงานรื่นเริง

ครั้นถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นงานรื่นเริงและให้ประเทศที่เป็นสัมพันธไมตรีมีโอกาสเข้าร่วมงาน โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชนี้ได้มีการเสด็จเลียบพระนครทางสถลมารคและชลมารค สำหรับทางสถลมารคมีการหยุดกระบวนที่ท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นประทับพลับพลา เสนาบดีกระทรวงนครบาลกราบบังคมทูลถวายพระชัยมงคลในนามของไพร่ฟ้าประชาชน และเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราไปทรงบูชาพระพุทธปฏิมากรในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แล้วเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราประทักษิณพระบรมมหาราชวัง คืนเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน