ภัยเงียบ‘ต้อหิน’ อาจถึงขั้นตาบอด

ภัยเงียบ‘ต้อหิน’ – ผู้ป่วยโรคต้อหินและโรคตาบอดที่เกิดจากต้อหินในประเทศไทย มีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ใหญ่มาก

ภัยเงียบ‘ต้อหิน’

นพ.บุญส่ง วนิชเวชารุ่งเรือง นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุ วิทยาฯ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 80 ไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคต้อหิน และผู้ป่วย 9 ใน 10 ราย มักไม่มีอาการแสดง กว่าจะรู้ตัวและตรวจพบ เส้นประสาทตาก็ถูกทำลายไปมากแล้ว

ภัยเงียบ‘ต้อหิน’

ส่วนมากพบในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ขึ้นไป มากกว่าผู้ชาย 3 เท่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ เกิดโรคต้อหิน คือ 1.อายุที่มากกว่า 40 ปี 2.ความดันในลูกตาสูง 3.ประวัติครอบครัวที่เคยเป็นโรคต้อหิน 4.สายตาสั้นมาก หรือยาวมาก 5.ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง 6.ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน 7.เคยได้รับอุบัติเหตุที่ลูกตามาก่อน แนะนำให้ประชาชนตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นประจำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

นพ.บุญส่งกล่าวต่อว่า โรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของขั้วประสาทตาที่มีเส้นใยประสาทนับล้านเส้นเกิดความเสียหาย และความดันในลูกตาสูงผิดปกติ จนส่งผลทำลายเส้นใยประสาท ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งข้อมูลเกี่ยวกับการมองเห็นจากลูกตาไปยังสมองเพื่อทำการประมวลเป็นภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียลานตาและการมองเห็นได้

โรคต้อหินชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ต้อหินชนิดเรื้อรัง หรือ ต้อหินปฐมภูมิ โดยจะสูญเสียการมองเห็นบริเวณรอบนอกของลานสายตา การมองเห็นจะแคบลงจนเสมือนมองผ่านท่อ เมื่อเกิดจุดบอดขึ้นในลานสายตาของผู้ป่วยและขยายตัวขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีขอบเขตในการมองเห็นแคบลง หากรักษาไม่ทันการณ์ ผู้ป่วยอาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

และต้อหินอีกชนิดที่พบได้น้อยกว่า คือ ต้อหินชนิดเฉียบพลัน ซึ่งจะทำให้ตามัวลง ตาแดง มีอาการปวดตาอย่างรุนแรง เนื่องจากความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภัยเงียบ‘ต้อหิน’

การรักษาโรคต้อหินนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากโรคนี้ทำให้ประสาทตาถูกทำลายอย่างถาวร การรักษาจึงทำได้ เพียงประคับประคองเพื่อไม่ให้ประสาทถูกทำลายไปมากกว่าเดิม และคงการมองเห็นของผู้ป่วยให้นานที่สุด

วิธีการรักษาโรคต้อหิน ปัจจุบันจะมีด้วยกัน 3 วิธี 1.รักษาด้วยยา เพื่อลดความดันตาให้อยู่ในระดับที่ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้น โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องหยอดยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และตรวจอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามผล และป้องกันผลข้างเคียงจากยา

ภัยเงียบ‘ต้อหิน’

2.รักษาด้วยการใช้เลเซอร์ โดยประเภทของเลเซอร์จะขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหินและระยะของโรคที่เป็นของผู้ป่วย

3.รักษาด้วยการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดทำทางระบายสำหรับน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาใหม่เพื่อลดความดันในตา ใช้รักษาในกรณีที่การรักษาด้วย 2 วิธีแรกไม่สามารถควบคุมความดันของดวงตาได้

ศูนย์จักษุแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี เป็นศูนย์รักษาโรคตาที่ทันสมัย มีอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญทางจักษุวิทยาครบ ทุกสาขา ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วยที่ประสบปัญหาสุขภาพทางตาประมาณ 700 ราย/เดือน และเป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยาที่เก่าแก่ที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข เปิดดำเนินการมานานกว่า 35 ปี

แต่ศูนย์ยังมีเครื่องมืออุปกรณ์ค่อนข้างจำกัด และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในการรักษา จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับอาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี

โดยร่วมบริจาคได้ที่ ชื่อบัญชี “เงินบริจาคของโรงพยาบาลราชวิถี” หมายเลขบัญชี 051-276128-1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หรือบริจาคเข้าบัญชี “ศูนย์การแพทย์ราชวิถี ในมูลนิธิ โรงพยาบาลราชวิถี” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หมายเลข บัญชี 051-2-69056-1 หรือสอบถาม โทร. 0-2354-7997-9 หรือ http://www.rajavithihospitalfoundation.org

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน