งูเห่า : การเมือง

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย น้าชาติ ประชาชื่น

งูเห่า : การเมือง – ทําไมต้องเรียกส.ส.ย้ายพรรคว่า งูเห่า

วันแมน

ตอบ วันแมน

เริ่มจากรู้จัก “งูเห่า” กันก่อน ชื่อภาษาไทย งูเห่า ชื่อภาษาอังกฤษ Cobra-คอบรา ชื่อวิทยาศาสตร์ Naja Kaouthia เป็นงูพิษขนาดกลางที่อยู่ในสกุล Naja วงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae) วงศ์ย่อย Elapinae จัดเป็นงูอันตราย นิสัยดุร้าย เมื่อตกใจหรือขู่ศัตรูจะทำเสียงฟู่ๆ โดยพ่นลมออกทางรูจมูก และแผ่แผ่นหนังที่อยู่หลังส่วนคอออกเป็นแผ่นด้านข้าง เรียกว่า แม่เบี้ย หรือ พังพาน มีลวดลายเป็นดอกดวงสีขาวหรือสีเหลืองนวลเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น คล้ายตัวอักษร V หรืออักษร U หรือวงกลม หรือไม่มีเลย ลวดลายดังกล่าวเรียกว่า ดอกจัน

งูเห่า : การเมือง : รู้ไปโม้ด

งูเห่ามีสีหลากหลาย ดำ น้ำตาล เขียวอมเทา เหลืองหม่น และขาวปลอด เรียกว่า งูเห่านวล หรือ งูเห่าสุพรรณ ซึ่งเป็นความหลากหลายทางสีสันของงูเห่าหม้อ (N. kaouthia) ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย โดยที่มิใช่สัตว์เผือก

จัดเป็นงูพิษขนาดกลาง เมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 1 เมตร พบกระจายพันธุ์ไปทั่วในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของเอเชียและแอฟริกา ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ทั้งทะเลทราย ป่าดิบ ที่ราบ ภูเขาสูง ตลอดจนในชุมชนเมือง

งูเห่ามีพิษมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทที่รุนแรง เป็นสาเหตุที่ทำให้คนหรือสัตว์ที่ถูกกัดเสียชีวิต นับเป็นพิษที่มีความร้ายแรงมาก มีร่องและรูทางออกของน้ำพิษทางด้านหลังของเขี้ยวพิษ เขี้ยวพิษขนาดไม่ใหญ่นักผนึกติดแน่นกับขากรรไกรขยับไม่ได้

นอกจากเขี้ยวพิษ ยังมีเขี้ยวสำรองอยู่ติดกัน 1-2 อัน ที่ขากรรไกรล่างไม่มีฟัน และในบางชนิดยังพ่นพิษออกมาจากต่อมน้ำพิษได้ด้วย เรียกว่า งูเห่าพ่นพิษ ซึ่งหากพ่นใส่ตา จะทำให้ตาบอดได้

งูเห่าขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ โดยงูตัวเมียจะเป็นผู้ปกป้องและฟักไข่จนกระทั่งฟักออกเป็นตัว ในช่วงนี้จะมีนิสัยดุร้ายกว่าปกติ วางไข่ครั้งละ 10 จนมากที่สุดได้ถึง 30 ฟอง ลูกงูมีอัตราฟักเป็นตัวสูงถึงร้อยละ 80-90 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย นอกจากงูเห่าหม้อ ยังมีงูเห่าพ่นพิษสยาม (N. siamensis) และงูเห่าพ่นพิษ สีทอง (N. samarensis)

คำว่า Naja ที่ใช้เป็นชื่อสกุลทางวิทยาศาสตร์ มาจากคำว่า naga (นาคา) ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มอินโด-ยูโรเปียน แปลว่า งู ส่วนชื่อสามัญในภาษาไทยได้มาจากพฤติกรรมทำเสียงขู่ฟู่ๆ จึงได้ชื่อว่า งูเห่า และในส่วนชื่อสามัญภาษาอังกฤษ คำว่า Cobra ยังมีความหมายว่า ไม่แพ้ ด้วย

ในทางการเมือง คำว่า “งูเห่า” นายสมัคร สุนทรเวช ขณะเป็นหัวหน้าพรรคประชากรไทย เป็นคนแรกที่นำมาใช้ เมื่อพ.ศ.2541 ทั้งนี้ ย้อนไปหลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ปลายปี พ.ศ.2540 และพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีมติสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาขึ้นเป็นนายกฯ ด้วยเสียงของพรรคความหวังใหม่ 125 เสียง, พรรคชาติพัฒนา 52 เสียง, พรรคประชากรไทย 18 เสียง และพรรคมวลชน 2 เสียง รวม 197 เสียง

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเดิม นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ 123 เสียง ต้องการสนับสนุน นายชวน หลีกภัย โดยร่วมกับพรรคชาติไทย 39 เสียง, พรรคเอกภาพ 8 เสียง, พรรคพลังธรรม 1 เสียง, พรรคไท 1 เสียง และพรรคร่วมรัฐบาลสมัยพล.อ.ชวลิต 2 พรรคได้แก่ พรรคกิจสังคม 20 เสียง และพรรคเสรีธรรม 4 คนเสียง รวมได้ 196 เสียง น้อยกว่าฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเพียง 1 เสียง

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ชักชวนส.ส.พรรคประชากรไทย กลุ่มของนายวัฒนา อัศวเหม จำนวน 13 คน เข้ามาสนับสนุน รวมได้เป็น 209 เสียง ทำให้ ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเหลือ 185 เสียง นายชวนจึงได้เป็น นายกรัฐมนตรี

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย เนื่องจากหัวหน้าพรรคประชากรไทยมีมติพรรคไม่ให้กลุ่มของนายวัฒนาเข้าร่วมรัฐบาล เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้นายสมัครที่เดิมเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน เหลือส.ส.ในสังกัดเพียง 4 คน

นายสมัครได้กล่าวเปรียบเทียบว่า ตนเองเป็นเหมือนชาวนาในนิทานอีสป เรื่อง ชาวนากับงูเห่า ที่เก็บงูเห่าที่กำลังจะตายจากความหนาวเย็นมาไว้ในอกเสื้อเพื่อให้ความอบอุ่น แต่ต่อมางูเห่านั้นก็ฉกชาวนาตาย

งูเห่า : การเมือง : รู้ไปโม้ด

นายสมัครเปรียบเทียบงูเห่ากับส.ส.กลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มปากน้ำของนายวัฒนา ซึ่งเดิมสังกัดพรรคชาติไทย แต่หลังจากขัดแย้งกับนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค จึงไม่มีพรรคสังกัด จนในที่สุดมาเข้าสังกัดพรรคประชากรไทยที่นายสมัคร เป็นหัวหน้าพรรค

และต่อมาก็กระทำขัดต่อมติพรรค สื่อมวลชน เรียกส.ส. 12 คนนี้ตามคำพูดของนายสมัครว่า กลุ่มงูเห่า อยู่เป็นเวลานาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน