ขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารครัชกาลที่ 10 (ตอนจบ)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

ขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารครัชกาลที่ 10 (ตอนจบ) – ฉบับวานนี้ (9ก.ค.) “วิเศษกุล” อยากทราบรายละเอียดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ เมื่อวานตอบไปส่วนหนึ่งแล้ว

วันนี้อ่านกันต่อ โดยคำตอบนำมาจากการแถลงข่าวการเตรียมการจัดขบวนเรือพระราชพิธีในพระราชพิธี เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ซึ่งมี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานการแถลงข่าว

สำหรับกําลังพลประจําเรือพระราชพิธีได้คัด เลือกกําลังพลจากหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ จํานวน 2,200 นาย เป็นกําลังพลของกองทัพเรือทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นกำลังพลที่ไม่เคยเป็นกําลังพลประจําเรือพระราชพิธีมาก่อน ได้ฝึกซ้อมมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้รับการฝึกความคุ้นเคยกับเรือภายในหน่วยเสร็จสิ้นแล้ว ต่อไปเป็นการฝึกซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม เป็นการฝึกซ้อมการเข้ารูปขบวน และการเดินทางเป็นรูปขบวนเดินทางตามลําดับ เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงของเรือในขบวนเรือพระราชพิธี

ขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารครัชกาลที่ 10 (ตอนจบ)

มีกําหนดการซักซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยาตามแผน การซ้อมจํานวน 10 ครั้ง แบ่งเป็นการซ้อมย่อย จํานวน 8 ครั้ง และซ้อมใหญ่ จํานวน 2 ครั้ง เป็นการซ้อมเสมือนวันพระราชพิธีฯ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานในวันพระราชพิธีฯ ซึ่งบัดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยแล้วคือ วันที่ 24 ตุลาคม 2562 ส่วนช่วงเวลาพระราชพิธีที่ชัดเจนยังอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัย

ทั้งนี้ เส้นทางเสด็จพระราชดําเนินเป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้ในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ เส้นทางจากท่าวาสุกรี ถึงวัดอรุณราชวราราม ระยะทาง 4.2 กิโลเมตร

ขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารครัชกาลที่ 10 (ตอนจบ)

สำหรับการเตรียมการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในครั้งนี้ เป็นการจัดรูปขบวนตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ โดยจัดรูปขบวนเรือ แบ่งออกเป็น 3 สาย 5 ริ้ว ดังนี้ ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ

ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้ มีเรืออีเหลือง เป็นเรือ กลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ ปิดท้ายด้วยเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก และริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้งและเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 52 ลำ

ขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารครัชกาลที่ 10 (ตอนจบ)

เรือทุกลําทำจากไม้ มีอายุในการสร้างมาก โดยเฉพาะเรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลํา กล่าวคือ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างเสร็จในรัชกาลที่ 5 มีอายุกว่า 102 ปี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างในรัชกาลที่ 5 เสร็จสิ้นในรัชกาลที่ 6 มีอายุ 108 ปี

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างในรัชกาลที่ 6 มีอายุ 95 ปี เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 สร้างเสร็จเมื่อปี 2539 มีอายุ 23 ปี ส่วนเรืออื่นๆ ในขบวน โดยเฉพาะเรือรูปสัตว์ แต่ละลํามีอายุการสร้างนับร้อยปี

ขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารครัชกาลที่ 10 (ตอนจบ)

ผบ.ทร.กล่าวด้วยว่า ขอเชิญชวนประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมชื่นชมวัฒนธรรมเก่าแก่หนึ่งเดียวในโลก โดยมาจับจองพื้นที่ 2 ฟากฝั่งเพื่อชื่นชมพระบารมีได้ แต่ขอความร่วมมือให้แต่งกายเรียบร้อยสวยงาม เพราะภาพนี้จะบันทึกเป็นประวัติศาสตร์

และขอให้ช่วยสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่เรื่องการดูแลรักษาความ ปลอดภัย รวมถึงขอความร่วมมือร้านค้าและผู้ให้บริการที่พักริมน้ำเส้นทางเสด็จฯ ช่วยดูแลความเรียบร้อยผู้มาใช้บริการอาทิ นั่งสุภาพ ไม่ให้นั่งสูงข่ม เพื่อให้พระราชพิธีเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ

น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน