กระบอกเสียงธรรมชาติ เปิดใจช่างภาพสารคดีทางทะเล

กระบอกเสียงธรรมชาติ เปิดใจช่างภาพสารคดีทางทะเล – ภาพมาเรียม พะยูนน้อยกำพร้าแม่เคี้ยวหญ้าทะเลที่สัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เกาะลิบงป้อนให้ เป็นภาพประทับใจให้ผู้คนเอ็นดูมันมากขึ้น

แต่ภาพพะยูนอีกตัวที่ติดเครื่องมือประมงตาย ซากถูกนำไปที่ห้องชันสูตรที่ศูนย์ชีววิทยาทางทะเลภูเก็ต ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหาสาเหตุการตาย เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่ถ่ายโดยช่างภาพคนเดียวกัน

กระบอกเสียงธรรมชาติ เปิดใจช่างภาพสารคดีทางทะเล

มาเรียมที่น่ารัก

ผลงานทั้งสองเป็นของ ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพวัย 31 ปี แห่งนิตยสาร เนชันแนล จีโอกราฟิก ประเทศ ไทย (National Geographic Thailand) ด้านสารคดีทางทะเล ผู้ผันตัวเองจากนักวิจัยสู่ช่างภาพอิสระเชิงอนุรักษ์ทางทะเล เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ธรรมชาติที่พูดไม่ได้

ช่างภาพหนุ่มเห็นว่า การเป็นช่างภาพสารคดี ควรจะมีความรู้ในสาขาที่ตัวเองทำงานด้วย สำคัญคือต้องรู้ “สตอรี่” ของเรื่องที่ถ่าย ควรหาอินไซด์ใหม่ๆ มาเล่าบ้าง ไม่ใช่แค่เรื่องสวยงามอย่างเดียว เพราะอาชีพนี้คือการหาสิ่งใหม่ๆ มาเล่า

กระบอกเสียงธรรมชาติ เปิดใจช่างภาพสารคดีทางทะเล

เรืออวนจับสัตว์น้ำหลากชนิดกลางทะเลอันดามัน

“ผมคิดว่าตอนนี้คนไทยตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลังๆ มามีประเด็นดราม่าออนไลน์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมบ่อยนะ พอผมเห็นก็รู้สึกแฮปปี้มาก ที่เริ่มแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางขนาดนี้ อย่างเช่นประเด็น ชานมไข่มุกพกกลับบ้าน ที่ต้องใช้ถุงพลาสติกหลายชิ้น คนก็ออกมาตำหนิว่าเป็นการสร้างขยะโดยไร้เหตุผลผมรู้สึกว่า เราไม่ต้องไปเปลี่ยนคนทั่วโลก แต่ลองพยายามเปลี่ยนคนรอบตัวเรา แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ใครจะทำได้ในวงกว้างกว่านี้ก็ยิ่งดีครับ” ชินกล่าว

กระบอกเสียงธรรมชาติ เปิดใจช่างภาพสารคดีทางทะเล

การกวาดโกยสัตว์ทะเลที่ไม่สนว่าเป็นปลาเศรษฐกิจหรือไม่

ทุกๆ 2-3 สัปดาห์ ชินจะออกเดินทางทำงานถ่ายภาพ หากเรื่องไหนที่รู้สึกว่าอยากให้คนสนใจ ก็จะออกไปเลยทั้งที่ยังไม่รู้ว่าผลงานจะได้ตีพิมพ์หรือไม่ ซึ่งเจ้าตัวเล่าขำๆ ว่ากรณีแบบนี้บ่อยกว่างานที่สร้างรายได้เสียอีก

ชินมองว่า การเกิดขึ้นของสังคมออนไลน์ได้สร้างปรากฏการณ์ให้คนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บางครั้งเกิดการถกเถียงจนเกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น เรื่องปลากระเบนนก รายการมาสเตอร์เชฟหรือดีเจให้อาหารปลาในทะเล จนคนออกมาเตือนว่าไม่ดีต่อระบบนิเวศ กรณีเหล่านี้ทำให้รู้สึกสนุกมากที่เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำให้คนตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมได้

เมื่อถามถึงการถ่ายภาพสิ่งแวดล้อมที่สร้างแรงสะเทือนใจช่างภาพรายนี้มากที่สุด ได้คำตอบว่าเป็นตอนที่ไปถ่ายเรือประมงที่จ.กระบี่

“เราเข้าใจการทำอาชีพของพวกเขา มันเป็นอุตสาหกรรม และสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิต แต่ในการทำอุตสาหกรรมประมงของไทยมันไปเชื่อมโยงกับระดับการแปรรูปส่งออกเชิงพาณิชย์ ปัญหาต้นตอมาจากการวางแผนที่ไม่เป็นระบบตั้งแต่แรก ที่วางแผนว่าจะหารายได้จากทางนี้ โดยไม่ได้เตรียมแผนรับมือว่าจะเกิดภาวะที่จำนวนสัตว์ทะเลลดลงแบบนี้

กระบอกเสียงธรรมชาติ เปิดใจช่างภาพสารคดีทางทะเล

ภาพสะเทือนใจ พะยูนติดเครื่องมือประมงตาย ซากถูกนำไปชำแหละที่ห้องชันสูตร

ตอนผมอยู่ในน้ำระหว่างชาวประมงกำลังยกอวนจับปลาขึ้นนั้น ขณะโผล่พ้นผิวน้ำก็ได้ยินเสียงปลาเป็นหมื่นตัวดีดจนลั่นทะเล ผมพูดกับตัวเองว่า อะไรว่ะเนี่ย อาจจะพูดได้ครับว่า สัตว์เหล่านี้คือ “อาหาร” แต่เราก็ควรจะเลือกวิธีที่คงไว้ซึ่งความยั่งยืนบ้าง และมันกำลังจะเกิดการสูญพันธุ์ ขณะที่เรานั่งอยู่ตรงนี้”

ภาพที่ถ่ายทอดปัญหานี้ เป็นนาทีที่ปลาถูกกวาดลากมาโดยไม่คำนึงถึงว่าจะไม่เป็นปลาเศรษฐกิจหรือไม่ หรือถ้าเอาไปขายก็ได้กิโลกรัมละประมาณ 10 บาท หลายครั้งก็เห็นลูกปลาเก๋า ลูกปลากะพง หรือลูกปลาอินทรี หากลูกปลาพวกนี้โตถึงไซซ์ที่พอเหมาะ ก็คงมีราคามากกว่านี้หลายเท่าส่วนลูกปลาที่ไม่ต้องการก็ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ซึ่งรับซื้อในราคาถูก

ช่างภาพสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นถึงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของไทยด้วยว่า จะเห็นลักษณะที่ “รูปไม่ตรงปก” บ่อยครั้ง

อย่างการใช้รูปอ่าวมาหยาสวยๆ มาขายให้นักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวก็ไม่รู้ว่าความเป็นจริงไปถึงเขาต้องเจออะไร

“ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นการเซฟความรู้สึกของนักท่องเที่ยวเหล่านั้นด้วยซ้ำ คือเมื่อคุณไปถึง มันไม่ได้เหมือนภาพที่คุณเห็นในโบรชัวร์ท่องเที่ยวเลย คุณจะแทบไม่ได้เห็นทะเล ไม่ได้ยินเสียงคลื่น เพราะจะได้ยินเต่เสียงคน ได้กลิ่นเหงื่อ ได้พบกับคลื่นมนุษย์ที่เดินเต็มไปหมด

กระบอกเสียงธรรมชาติ เปิดใจช่างภาพสารคดีทางทะเล

นักท่องเที่ยวก่อนปิดมาหยา

อ่าวมาหยารับนักท่องที่ยวได้ 160-200 คน ต่อช่วงเวลาหนึ่ง ตัวเลขมันมีมานานแล้วครับ แต่เราไม่เคยควบคุมมันได้ การปิดอ่าวมาหยาครั้งนี้จึงสามารถทำให้ธรรมชาติฟื้นฟูอย่างเต็มที่ ที่แห่งนี้เป็นจุดที่ออกลูกของฉลาม เป็นแหล่งสมาคมแม่บ้านฉลาม และในอ่าวมาหยาจะมีปลาฉลามครีบดำ หรือปลาฉลามหูดำ (Blacktip Reef Shark) ด้วย” ช่างภาพหนุ่มกล่าว

อีกกรณี คือเกาะตาชัย อุทยานแห่งชาติสิมิลัน จ.พังงา เป็นเกาะที่หาดทรายสวย และน้ำใส ถัดจากชายหาดไปก็จะเป็นป่าเล็กๆ มีปู และสัตว์แปลกๆ ให้เห็น นักท่องเที่ยวไปเยอะ จนธุรกิจทัวร์เติบโตอย่างรวดเร็ว เรือสปีดโบ๊ตวิ่งเข้าออกเป็นว่าเล่น

กระบอกเสียงธรรมชาติ เปิดใจช่างภาพสารคดีทางทะเล

เรือสปีดโบ๊ตแน่นมาหยา

ปัญหาที่ตามมาก็คือ เกิดตะกอนฟุ้งกระทบปะการัง และมีจำนวนนักท่องเที่ยวเกินกว่าที่จะรับได้ นอกจากนี้ยังได้รับผล กระทบจากสภาพความเปลี่ยนแปลงทางอากาศ (Climate Change) ทำให้ปะการังฟื้นตัวไม่ทัน เมื่อภาพความเสียหายปรากฏออกไปตามโลกออนไลน์คนก็เริ่มออกมาพูดถึงกันมาก

เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานที่เกาะตาชัยก็รู้สึกเป็นห่วงกับวิกฤตนี้ แต่พูดถึงเรื่องระดับนโยบาย มันไปเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์เยอะมาก เพราะในสิมิลันเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับระบบท่องเที่ยวมากที่สุดในไทย มีบริษัททัวร์รายใหญ่ที่มีการล็อบบี้ผลประโยชน์ให้กับตัวเอง อีกทั้งบริษัทแอบแฝงจากจีนก็เข้ามาทำธุรกิจอย่างโจ่งแจ้ง

นอกจากนี้หน่วยงานรัฐบางแห่งก็ยังมุ่งหน้าสู่การเกี่ยวผลประโยชน์จากธรรมชาติ โดยที่ไม่สนใจถึงผลกระทบที่จะตามมา และสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เราทุกคนเห็นกันอยู่แล้ว

กระบอกเสียงธรรมชาติ เปิดใจช่างภาพสารคดีทางทะเล

ฉลามวาฬถูกนักดำน้ำไล่ตามที่เกาะโลซิน

“ผมอยากจะสบถแรงๆ ออกมาด้วยซ้ำ เพราะเราเบื่อ และโกรธ แต่เราก็ไม่รู้จะพูดกับใคร ผมรู้สึกว่าเรากำลังค้าประเวณีกับทรัพยากรของเรา

ฟังแล้วอาจจะดูรุนแรงและก้าวร้าว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นจริงกับการหาผลประโยชน์จากธรรมชาติซึ่งเป็นเพียงผู้ถูกกระทำ”

สุดท้ายช่างภาพหนุ่มหวังว่าผลงานของเขาจะสร้างความตระหนักให้เราอยู่กับธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็นได้ ไม่มีฝ่ายใดอยู่เหนือกว่า ทั้งมนุษย์ และธรรมชาติ

สุนันทา บวบมี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน