ห่วงหนี้ขยี้สุขภาพจิต แนะ 5วิธีสร้างสุข-ไม่ผูกติดเงิน

ห่วงหนี้ขยี้สุขภาพจิต แนะ 5 วิธีสร้างสุข-ไม่ผูกติดเงิน – ปัญหาเศรษฐกิจเป็น 1 ในสาเหตุที่ทำให้ประชาชนเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ จากรายงานผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2560 พบมี 10.8 ล้านครัวเรือนที่มีหนี้ คิดเป็นร้อยละ 50.7 ของจำนวนครัวเรือนที่มีทั้งหมดทั่วประเทศ จึงเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

พญ.กรองกาญจน์ แก้วชัง รองผู้อำนายการด้านการแพทย์และประธานทีมนำทางคลินิก โรงพยาบาล (ร.พ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าเศรษฐกิจเป็น 1 ในสาเหตุที่ทำให้ประชาชนเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ เช่น ความเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ เป็นต้น ที่ร้ายแรงที่สุดคือการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาระหนี้สินและผู้ที่กำลังประสบวิกฤตเรื่องเงิน จะมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น

ห่วงหนี้ขยี้สุขภาพจิต แนะ 5 วิธีสร้างสุข-ไม่ผูกติดเงิน

ปัญหาหนี้สินทำให้ประชาชนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานหาเงินเพื่อใช้หนี้และเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว อาจทำให้เกิดความเครียด ส่งผลให้ความสุขในชีวิตลดน้อยลงหรือขาดหายไป เป้าหมายสูงสุดของคนไม่ใช่เงิน อำนาจ ชื่อเสียง หรือเกียรติยศ แต่คือความสุขที่อยู่ในจิตใจ ซึ่งจับต้องไม่ได้

ห่วงหนี้ขยี้สุขภาพจิต แนะ 5 วิธีสร้างสุข-ไม่ผูกติดเงิน

พญ.กรองกาญจน์ แก้วชัง

“ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะมีความสำคัญต่อชีวิตก็ตาม แต่ไม่ควรให้เศรษฐกิจมีอิทธิพลสูงสุดมากำหนดความสุขของเรา และที่สำคัญเราไม่ควรล่ามความสุขไว้กับเศรษฐกิจหรือผูกติดกับเงิน เนื่องจากจะทำให้ความสุขเคลื่อนตามสิ่งนั้นไป” พญ.กรองกาญจน์กล่าว

พญ.กรองกาญจน์กล่าวต่อไปว่า วิธีการปลดพันธนาการให้ความสุขของเราเป็นอิสระและทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างเต็มที่ตามศักยภาพในขณะที่ยังมีภาระหนี้สินหรือในยามที่ประสบภาวะวิกฤตการเงิน มีข้อแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติ 5 ประการ ดังนี้

ห่วงหนี้ขยี้สุขภาพจิต แนะ 5 วิธีสร้างสุข-ไม่ผูกติดเงิน

1.ดูแลสุขภาพกายใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ เนื่องจากร่างกายและจิตใจเป็นส่วนที่สัมพันธ์กัน หากร่างกายแข็งแรงจิตใจก็แจ่มใสไปด้วย โดยออกกำลังกายให้สม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30-60 นาที นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

2.ให้พยายามปรับที่ความคิดความเชื่อของเรา เป็นตัวกำหนดความสุขว่ามีเงินน้อยไม่ได้หมายถึงมีความสุขน้อยเสมอไปเราต้องเชื่อว่าเงินกับความสุขไม่ได้สัมพันธ์กันตรงไปตรงมา แต่ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ทั่วโลกเข้าใจว่าถ้ามีเงินเราจะมีความสุข แต่ในระยะหลังๆ มานี้เริ่มค้นพบและประจักษ์ความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า แม้ว่าเราจะมีเงินมากแค่ไหนก็ตาม ความสุขของคนเราก็ไม่ค่อยได้ขึ้นอยู่กับเงินเสมอไป

3.ให้จัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นทุกวัน โดยจัดเวลาทำกิจกรรมที่มีความสุขง่ายๆ ในชีวิตประจำวันให้ตัวเอง เช่น เดินออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน การเล่นกับลูกๆ คุยกับคนรัก หรืออ่านหนังสือดีๆ จะช่วยผ่อนคลายได้ดีขึ้น

ห่วงหนี้ขยี้สุขภาพจิต แนะ 5 วิธีสร้างสุข-ไม่ผูกติดเงิน

4.ใช้วิธีการปรับใจ ทำใจให้รู้สึกว่าการเป็นหนี้สินไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตามว่าเป็นเรื่องท้าทาย และอย่ากลัวความลำบาก ขณะเดียวกันให้มองความยากลำบากให้เป็นความท้าทายและมีคุณค่าต่อชีวิต เพื่อให้เราก้าวไปสู่เป้าหมาย คือการปลดหนี้ในที่สุด ให้สถานะครอบครัวในอนาคตมีความมั่นคง ก็จะสร้างความสุขให้ชีวิตได้ ซึ่งเรื่องนี้ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่าความสุขเกี่ยวข้องกับความสบาย หรือเชื่อว่าชีวิตต้องสบายถึงมีความสุข มีผลการศึกษาเรื่องความสุขของมนุษย์เรา พบว่าความสุขที่เกิดจากการลงมือทำมีความหมายมากกว่า

และ 5.ต้องดูแลความสุขในครอบครัวเพื่อให้ครอบครัวมีทั้งความมั่นคง มีความรัก ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“ผลงานวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า แหล่งความสุขที่สำคัญที่สุดคือครอบครัวของเรา ซึ่งเรื่องนี้มีหลายคนคิดกลับกัน ไปเริ่มต้นที่การหาเงินก่อนแล้วเกิดผลกระทบกับครอบครัวตามมาทำให้แหล่งความสุขเสียไป” พญ.กรองกาญจน์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน