สานสายใยแม่ลูกในเรือนจำ

สานสายใย‘แม่ลูกในเรือนจำ’ – เพื่อส่งเสริมสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้ ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ สร้างสรรค์กิจกรรมจัตุรัสจามจุรีบุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 11 : มหัศจรรย์วันหนังสือ ที่อาคารจามจุรีสแควร์ ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี เป็นประธานเปิดงานเมื่อวันที่ 23 .. ภายในงานจัดกิจกรรมสร้างปัญญา เยียวยาใจ สร้างสายใย : แม่ลูกในเรือนจำส่งมอบหนังสือดีไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง และทัณฑสถานหญิงธนบุรี กรมราชทัณฑ์

ทัณฑสถานหญิงมีหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่คลอดบุตรแล้วเลี้ยงดูบุตรอยู่ในเรือนจำ อยู่จำนวนหนึ่ง กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ต้องขังหญิง ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เล็งเห็นว่าหนังสือจะเป็นเพื่อนช่วยบรรเทาความทุกข์ เยียวยาจิตใจ เป็นแสงสว่างและช่วยเปิดโลกกว้าง สร้างแนวคิด สร้างความหวังและชีวิตใหม่หลังก้าวพ้นออกกำแพง ในส่วนหญิงตั้งครรภ์จะมีการอบรมเตรียมตัวการเป็นแม่ แยกไปอยู่รวมกับผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อน มีการฝากครรภ์เหมือนแม่ทั่วไป กฎหมายอนุญาตให้เด็กอยู่ในเรือนจำได้ถึงอายุ 3 ขวบ เด็กในวัยนี้จะเริ่มเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมคนรอบข้างได้เร็ว จึงต้องส่งให้ญาติหรือสถานสงเคราะห์ช่วยเลี้ยงดูต่อ แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่ได้ดูแลลูก หนังสือจึงเป็นสื่อสายใยเชื่อมโยงความรักของแม่สู่ลูก นิทานผ่านเสียงของเเม่แม้มิอาจรู้ความหมายของคำ แต่เชื่อว่าเด็กจะสัมผัสถึงความรักความอบอุ่นที่แม่มอบให้ผ่านเสียงเล่านิทาน

กิจกรรมในงาน เริ่มด้วยการแสดงลีลาศอาเซียน สานสายใยความรัก ความผูกพันต่อด้วยวีดิทัศน์นำเสนอภาพบรรยากาศการ ใช้หนังสือเป็นสื่อสร้างสายใยความรักระหว่างแม่ที่เลี้ยงดูบุตรในทัณฑสถาน และบรรยากาศกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

ผศ.ดร.ชัยพรกล่าวว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือจะเป็นสื่อช่วยกล่อมเกลาจิตใจ ก่อให้เกิดความอ่อนโยนและสร้างสายใยความรักความผูกพันจากแม่สู่ลูกให้ผู้ต้องขังหญิงและบุตร ตลอดจนผู้ต้องขังหญิงทุกวัยที่เคยพลั้งพลาดกระทำความผิดให้สามารถเข้าถึงการอ่านเพื่อให้หนังสือเป็นเครื่องมือช่วยสร้างสติปัญญา เยียวยาความทุกข์กายทุกข์ใจ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและใฝ่เรียนรู้ เพื่อค้นพบความถนัดทางการศึกษาหรืออาชีพที่สามารถนำไปใช้เมื่อกลับสู่สังคมหลังพ้นโทษโดยไม่กลับไปทำความผิดซ้ำอีก

สุทัสสา-นฤมลรับมอบหนังสือจาก ผศ.ดร.ชัยพร

จากนั้นมอบหนังสือผ่าน ดร.สุทัสสา สุขสว่าง ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงธนบุรี กรมราชทัณฑ์ และ คุณนฤมล รื่นอารมย์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง ทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์

ดร.สุทัสสากล่าวว่า ในเรือนจำไม่มีโทรศัพท์มือถือ การดูแลผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตรในเรือนจำ จะดูแลเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเด็กบริสุทธิ์ไม่ได้ทำผิดด้วย แม่มีความรู้สึกหรือมีอารมณ์แบบไหนจะส่งผลถึงลูก หากแม่มีหนังสือไว้อ่าน ได้เรียนรู้พัฒนาการของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งเด็กคลอดออกมาโดยเลี้ยงดูถูกต้องจะส่งผลดีต่อเด็ก

ส่วนการออกร้านในงานได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์ชั้นนำของไทยและผู้ผลิตสื่อการเรียนรู้ต่างๆ กว่า 30 สำนักพิมพ์ พร้อมใจกันนำหนังสือดีมาให้เลือกสรรในราคาลดพิเศษ โดยมีหลากหลายกิจกรรมให้นักอ่านมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอด 17 วัน กว่า 40 กิจกรรม วันนี้ – 8 .. เวลา 10.00 – 20.00 . บริเวณโถงหน้าลิฟต์แก้ว ชั้น G อาคารจามจุรีสแควร์ จุฬาฯ

สนใจมอบหนังสือดีแก่ผู้ต้องขังหญิง สอบถามโทร. 0-2218-9893-5 หรือ www.chulabook.com

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน