อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีสร้างป่าสร้างชุมชน

อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีสร้างป่าสร้างชุมชน – จากเสียงเล็กๆ ของราษฎรที่อยู่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ในอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 20 ปีก่อน ความล่วงรู้ถึงพระเนตร พระกรรณ ก่อให้เกิดโครงการขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งใกล้แล้วเสร็จในปี 2564 นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชุมชนในอำเภอท่าปลา รวมถึงชาวอุตรดิตถ์

อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีสร้างป่าสร้างชุมชน

ในปี 2548 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี พร้อมระบบผันน้ำ ระบบส่งน้ำ และอาคารประกอบไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคของราษฎรที่อพยพจากบริเวณพื้นที่ถูกน้ำท่วมเหนือเขื่อนสิริกิติ์ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีในพระราชดำริ และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า กรมชลประทานเข้ามาดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 โดยผ่านกระบวนการจัดการแก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อม EIA มาโดยตลอด คือการขอใช้พื้นที่ลุ่มชั้น 1 A การขอใช้พื้นที่ป่าสงวน และการขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ วันนี้โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วเสร็จกว่า 50% สามารถกักเก็บน้ำได้แล้ว 2 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุทั้งสิ้น 73 ล้านลูกบาศก์เมตร ปล่อยน้ำให้ราษฎรใช้บรรเทาภัยแล้งไปได้แล้วกว่า 200,000 ลูกบาศก์เมตร เมื่อโครงการสร้างเสร็จความอุดมสมบูรณ์จะเกิดขึ้นแน่นอน

นอกจากสร้างความมั่นคงด้านน้ำแล้ว สิ่งสำคัญคือการสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ให้ชุมชน โดยการสร้างงานสร้างอาชีพ ปรับ ภูมิทัศน์บริเวณอ่างเก็บน้ำให้สวยงามเพื่อเป็นแหล่ง ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างทางเดินหรือสกายวอล์ก จุดชมวิว ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายสินค้าและของที่ระลึก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไปรองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีสร้างป่าสร้างชุมชน

นอกจากความคืบหน้าของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีฯ และชมทัศนียภาพที่สวยงามรอบบริเวณอ่าง ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และประธานกลุ่มต่างๆ เผยว่า โครงการนี้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในทางที่ดีขึ้น

นางพิสมัย หารโสภา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกิ่วเคียน เล่าว่ากลุ่มเราทำเม็ดมะม่วงหิมพานต์ส่งขายในโครงการสมเด็จพระเทพฯ มาตั้งแต่ปี 2549 ช่วงแรกเขาก็มาส่งเสริมให้ทำเม็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือก่อน ปี 2557 อาจารย์จากราชภัฏเข้ามาฝึกอาชีพ มาแปรรูปมะม่วงหิมพานต์เป็น 6 รส คือ อบเกลือ ต้มยำ บาร์บีคิว ปาปริก้า สาหร่าย นมเนย และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการเพาะเห็ดนางฟ้า จัดทำไม้กวาดดอกตอกกง จักสานตะกร้าทางมะพร้าว โดยสนับสนุนองค์ความรู้ ปัจจัยการผลิต และสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มพร้อมจัดหาตลาดหลายแห่ง

อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีสร้างป่าสร้างชุมชน

ด้าน นายสุทธนนท์ คำพัฒน์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านทรายงาม เล่าว่า ทางกรมส่งเสริมการแปรรูปน้ำพริกข่าป่า และต่อยอดผลิตภัณฑ์เป็นน้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกกากหมู น้ำพริกแมงดา น้ำพริกแกงเผ็ด นางตลับ สนใบ ประธานกลุ่มน้ำพริกเสริมว่า น้ำพริกข่าป่าของเราจะต่างจากที่อื่น เพราะใช้วัตถุดิบในชุมชนซึ่งเป็นอินทรีย์ทั้งหมด นอกจากน้ำพริกข่าป่าแล้วบ้านทรายงามยังได้รับการส่งเสริมการแปรรูปกล้วยน้ำว้า การเพาะเห็ดนางฟ้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ไม้กวาดถักและเครื่องจักสานสร้างรายได้ให้ชุมชน

ขณะที่ชุมชนบ้านสีเสียดได้รับการส่งเสริมการแปรรูปกล้วยน้ำว้า (กล้วยตาก) ของกลุ่มอาชีพวนเกษตรและแปรรูปผลผลิตบ้านสีเสียดโดยสนับสนุนการปลูกกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง และสนับสนุนอุปกรณ์จัดทำโรงแปรรูปกล้วยตาก ภายใต้แบรนด์ห้วยน้ำรีปัจจุบันการผลิตกล้วยตากเพื่อจำหน่ายไม่ทันกับยอดการสั่งซื้อ ส่วนชุมชนบ้านน้ำรีได้รับการส่งเสริมการแปรรูปกล้วยน้ำว้า (กล้วยเบรกแตก) รวมทั้งผลผลิตอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ห้วยน้ำรีเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน