‘สืบมรรคา’ตระการตา ชมอิทธิฤทธิ์หนุมาน

‘สืบมรรคา’ตระการตา ชมอิทธิฤทธิ์หนุมาน – ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงโขนมูลนิธิ ส่งเสริมศิลปาชีพฯ มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติเป็นประจำทุกปี

‘สืบมรรคา’ตระการตา ชมอิทธิฤทธิ์หนุมาน

และนับเป็นวาระพิเศษที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนการแสดงโขนไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติเมื่อปี 2561

ในปี 2562 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เลือกบทโขนรามเกียรติ์ ตอน “สืบมรรคา” มาจัดแสดงตามรูปแบบโขนหลวง

ผสานกับความตระการตาของฉากเทคนิคที่พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยจัดรอบบูรพทัศน์ (Preview) พร้อมเผยฉากสำคัญและการแสดงไฮไลต์เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

‘สืบมรรคา’ตระการตา ชมอิทธิฤทธิ์หนุมาน

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิ ส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวว่า ในปีนี้จัดแสดงตอน “สืบมรรคา” เนื้อหาสนุกสนาน หลากรส และชวนติดตามไปกับการผจญภัยของหนุมานทหารเอกของพระราม นอกจากนี้ ยังมีตัวละครใหม่ๆ เช่น นกสัมพาที นางผีเสื้อสมุทร นางอังกาศตไล ยักษ์ปักหลั่น และที่น่าจับตาชมคือเครื่องแต่งกายของตัวละครที่แปลกตากว่าตอนอื่นๆ

เช่น ทศกัณฐ์สวมศีรษะโขนหน้าทองมีผ้าคล้องไหล่ พวงมาลัยคล้องพระกรขวา และพัดด้ามจิ้วจันทน์ที่ใช้สะบัดประกอบท่ารำ รวมถึงจะได้ชมกระบวนรำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวนที่สวยงาม แสดงความเจ้าชู้ยักษ์ของตัวทศกัณฐ์ที่เข้าไปเกี้ยวพาราสี นางสีดา

‘สืบมรรคา’ตระการตา ชมอิทธิฤทธิ์หนุมาน

อาจารย์ประเมษฐ์ บุญยะชัย ที่ปรึกษาอาวุโส เผยว่าการแสดงโขนแต่ละตอนจะมีความพิเศษ เป็นมรดกที่ได้รับการสืบทอดมาจากครูบาอาจารย์ อาทิ ทศกัณฐ์หน้าทอง ซึ่งหัวโขนทศกัณฐ์หน้าสีทองถือเป็นหัวโขนที่เป็นศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยม เป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร ซึ่งตกทอดมายังกรมมหรสพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตามลำดับ

ครูอร่าม อินทรนัฏ นำมาใช้เพื่อสร้างความแตกต่างและแสดงให้เห็นถึงทศกัณฐ์ที่อารมณ์ดี หน้าตาผ่องใส กระบวนท่ารำต่างๆ ในการแสดงโขนครั้งนี้เชื่อกันว่าสืบทอดมาจากกรมมหรสพในรัชกาลที่ 6 โดยครูอร่าม ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ในกรมศิลปากรได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณหญิง นัฏกานุรักษ์ สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้เขียนบทและกำกับการแสดง กล่าวถึงการแสดงโขนตอน สืบมรรคา ว่า “เป็นตอนที่สนุกสนาน หลากรส และเต็มไปด้วยสีสัน มีการทำฉากเทคนิคให้พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา แฟนตาซีมากกว่าเดิม จะได้เห็นหนุมานผจญภัยที่ด่านต่างๆ จนถึงเมืองลงกา รวมทั้งมีฉากไฮไลต์ เช่น ฉากแม่น้ำใหญ่ หนึ่งในฉากเด่นของตอน โดยหนุมานและเหล่าวานรพบแม่น้ำใหญ่ หนุมานจึงนิรมิตกายให้ใหญ่โต เอาหางพาดต่างสะพานให้กองทัพวานรไต่ข้ามแม่น้ำ

มีตัวละครใหม่ๆ อย่างนางอังกาศตไล ที่จะปรากฏเฉพาะในตอนนี้เท่านั้น ตลอดจนมีการรื้อฟื้นท่ารำแม่บทเก่าแก่ขึ้นมาใหม่ ซึ่งยังไม่เคยแสดงในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ครั้งใดมาก่อน โดยเชิญครูผู้เชี่ยวชาญระดับศิลปินแห่งชาติมาฝึกสอน การดำเนินเรื่องก็กระชับ ฉับไว และตื่นเต้น เข้ากับรสนิยมของผู้ชมรุ่นใหม่ รับรองว่าสนุกสนานชวนติดตาม แฟนโขนทุกคนไม่ควรพลาดชม”

‘สืบมรรคา’ตระการตา ชมอิทธิฤทธิ์หนุมาน

ภายในงานจัดการแสดงฉากสำคัญ 2 ชุด ได้แก่ “รำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน” ลีลาท่ารำของทศกัณฐ์ที่แสดงถึงความเจ้าชู้ กรุ้มกริ่ม แต่แฝงไว้ด้วยความเข้มแข็งยิ่งใหญ่ตามลักษณะของพญายักษ์ และ “หนุมานรบนางอังกาศตไล” เป็นตอนที่หนุมานเหาะเหินเดินอากาศเข้ากรุงลงกา ต้องสู้รบกับนางอังกาศตไล เสื้อเมืองลงกา ผู้คุมด่านทางอากาศ นางยักษ์สวมใส่มงกุฎยอดน้ำเต้าห้ายอด สีหงเสน (สีส้มแดง) แต่งกายด้วยผ้าสไบนางยักษ์ แต่นุ่งโจงกระเบน มีสี่หน้า แปดมือ และมีความสามารถในการใช้อาวุธมากมาย ได้แก่ ง้าว กระบอง จักรศร

รวมทั้งได้เห็นความซุกซนของหนุมานที่เข้าหยอกล้อนางอังกาศตไลหลากหลายกระบวนท่ารำ รวมทั้งท่าเปิดสไบ ผ้าผืนนี้จัดทำขึ้นมาใหม่ ระดมฝีมือจากสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง และสมาชิกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ปักเป็นลวดลายสำหรับนางยักษ์ คือลายพุ่มหน้ากาลก้านแย่ง ออกแบบโดยอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย

ภายในงานได้รับเกียรติจากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ร่วมงาน โดยมี ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาทิ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ อาจารย์สุดสาคร ชายเสม อาจารย์ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว อาจารย์วัชรวัน ธนะพัฒน์ และอาจารย์พีรมณฑ์ ชมธวัช ร่วมเผยรายละเอียดสำคัญ

การแสดงโขนส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สืบมรรคา” มี 2 องก์ รวม 10 ตอน ฉากรบเด่น เช่น ฉากหนุมานรบนางอังกาศตไล ฉากกลางทะเลที่หนุมานเหาะมาถึงกลางทะเล นางผีเสื้อสมุทร รักษาด่านเมืองลงกาเห็นหนุมานเหาะมาจึงขวางหน้าไว้และจะกินหนุมาน หนุมานจึงเหาะเข้าปากผ่าท้องนางผีเสื้อสมุทร และฉากรักเด่น เช่น ฉากตำหนักในกรุงลงกา เล่าถึงทศกัณฐ์ตั้งแต่ได้นางสีดามาและนำไปไว้ในสวนขวัญ ทศกัณฐ์เฝ้าคิดถึงแต่นางสีดาทุกคืนวัน ทศกัณฐ์จึงสั่งให้จัดขบวนและแต่งกายให้งดงามเพื่อไปเกี้ยวนางสีดาที่สวนขวัญ

เปิดการแสดงระหว่างวันที่ 6 พ.ย.ถึง 5 ธ.ค. 2562 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่ วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน