ชมนิทรรศการ “ความงามในความเหมือน”

ภาพวาดเสมือนจริง ฝีมือเด็กเพาะช่าง

ภาพวาดเสมือนจริง ฝีมือเด็กเพาะช่าง – นับเป็นนิทรรศการที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับงานแสดงภาพวาด“ความงามในความเหมือน” ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ที่วิทยาลัยเพาะช่าง ถนนตรีเพชร สถาบันที่ผลิตศิลปินสำคัญของประเทศมาช้านาน

โดยนิทรรศการดังกล่าวเป็นการจัดแสดงภาพวาดสีน้ำมัน ของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ซึ่งจัดแสดงใน 3 หมวด ได้แก่ พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หมดอาหาร และหมวดดอกไม้ ซึ่งจัดแสดงให้ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 20 ก.ย. ที่วิทยาลัยเพาะช่าง และหากถูกใจ ก็สามารถเลือกซื้อเก็บเป็นคอลเลกชั่นได้เช่นกัน

อ.ลีลา พรหมวงศ์ อาจารย์สาขาวิชาจิตรกรรม วิทยาลัยเพาะช่าง เผยว่า เอกลักษณ์ของวิทยาลัยเพาะช่าง คนทั่วไปมักจะนึกถึงทักษะฝีมือและผลงานที่ออกมาด้วยความประณีตสวยงาม ด้วยความรู้ความเข้าใจและเทคนิคการสอนที่เน้นการลงมือปฏิบัติโดยเฉพาะการเรียนการสอนในสาขาวิชาจิตรกรรม ซึ่งเน้นการทำซ้ำเพื่อให้เข้าใจสามารถแยกแยะและมองออกถึงเทคนิคที่เป็นพื้นฐานทั้งหมดของงานจิตรกรรม

แต่จุดเริ่มต้นที่แท้จริงนั้นคือการได้เริ่มใช้สีน้ำมันซึ่งเป็นสื่อวัสดุที่มีมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มและได้ถูกพัฒนาโดยใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นที่นิยมตั้งแต่ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance)

ในยุคดังกล่าวจะเน้นการศึกษาแนวคิดแบบคลาสสิกและยึดคติ “มนุษยนิยม” จึงจะเห็นได้ว่าการเขียนภาพกายวิภาคของมนุษย์นั้นปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งตามศาสนสถาน และบนผืนผ้าใบ สีน้ำมันในยุคหลังต่อๆมา มีทั้งการเน้นความเรียบหรู การรับใช้ศาสนา หรือแม้แต่การถ่ายทอดอารมณ์ที่เกินจริงด้วยสีสันที่สร้างขึ้น

จนถึงยุคที่การตีแผ่ความจริงของมนุษย์ธรรมดาเดินดินที่ไม่ได้อยู่ในรูปลักษณ์ของเทพได้อุบัติขึ้นและกลายเป็น “ลัทธิสัจนิยม” (Realism)ซึ่งต่อมาไม่นานก็ได้แตกแขนงออกไป ด้วยการเปลี่ยนแปลงเทคนิค วิธีการลงสีที่หลากหลายมากขึ้น โดยอาศัยความรู้จากวิทยาศาสตร์ เข้ามาช่วยให้รูปแบบผลงานออกมาเป็นที่ตื่นตะลึงด้วยทีแปรงสนุกสนาน เน้นมิติที่เกิดการแทรกอยู่ของอากาศ สีคู่ตรงข้าม และทฤษฎีจากแสงของดวงอาทิตย์นั่นก็คือ “ลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์” (Impressionism) ที่สามารถเก็บบรรยากาศ และบันทึกอารมณ์ของศิลปินที่ปะทะกับความประทับใจ ณ สถานที่จริงได้อย่างงดงาม

จะเห็นได้ว่า ความเป็นไปของเส้นทางเทคนิคสีน้ำมันนั้นดำเนินมาเรื่อยๆ จากรูปธรรมจนกลายเป็นนามธรรม จากหลายเทคนิค ทั้งการเทสี สะบัดสี การเช็ดออกด้วยทินเนอร์ และวิธีการอื่นๆอีกมากมาย จนสุดท้ายในยุคปี 1960 ถึงปลายปี 1970 ความนิยมในการชื่นชม “ความงามในความจริง” ก็หวนกลับมาสู่วงการอีกครั้ง

จึงได้เกิดลัทธิ Photorealism ขึ้น ซึ่งศิลปินกลุ่มนี้จะมี Concept ในการทำงานที่ตรงไปตรงมา อย่างเช่น ภาพเขียนภาพถ่ายทิวทัศน์ ซึ่งศิลปินแต่ละคนจะมี Concept ที่ต่างกันออกไป แต่อาศัยหลักการและลูกเล่นของกล้องถ่ายภาพมาปรับใช้กับการจัดองค์ประกอบและความชัดความเลอเพื่อสื่อสาร แนวคิดที่จะสื่อออกมา

ซึ่งผู้สอนเห็นว่าตรงกับการเรียนการสอนในรายวิชาจิตรกรรมสีน้ำมันที่เน้นการศึกษา “สัจจะ”ของแสง ปริมาตร ระนาบ และสี อันจะส่งผลต่อการสั่งสมประสบการณ์ และทักษะให้แก่นักศึกษาเพื่อปูพื้นฐานไปสู่การสร้างสรรค์ผลงาน และอาชีพซึ่งล้วนแล้วเป็นสิ่งจุดประกายให้เกิดนิทรรศการ “ความงามในความเหมือน” อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4 ปี

ดร.ภาคภูมิ เดชสกุลฤทธิ์ กก.บห.เจษฎาเทคนิคมิวเซียม นักธุรกิจหนุ่มที่สนใจงานศิลปะ ระบุว่าภาพวาดที่อยู่ในท้องตลาดอาจจะมาจากหลายแหล่ง เช่นตลาดภาพวาดของศิลปินที่มีชื่อเสียง จากศิลปินใหม่ที่กำลังสร้างชื่อเสียง หรืออาจจะมาจากนักศึกษาที่เรียนการวาดภาพที่มีความเพียรพยายามในการสร้างสรรผลงานที่สวยงามออกสู่สายตาของประชาชนทั่วไป ราคาที่จ่ายไปเพื่อได้รูปภาพเหล่านี้มาครอบครองจึงมีระดับที่แตกต่างกันออกไป

ผู้ที่สนใจลงทุนในศิลปะภาพวาดที่เกิดจากการสร้างสรรค์โดยนักศึกษา โดยมากพวกเขามีมุมมองว่าการที่ได้ภาพวาดเหล่านี้มาครอบครองเป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากเป็นการส่งเสริมการทำงานของนักศึกษา และถือเป็นการสร้างความสุนทรียภาพทางอารมณ์ การลงทุนในการซื้อภาพจากนักศึกษาจึงถือเป็นการให้กำลังใจในการทำงานของนักศึกษาที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นศิลปินใหม่ในอนาคต นักศึกษาบางกลุ่มที่มีความพยายามในการรังสรรค์ผลงานขึ้นมา มีความแตกต่างกับกลุ่มที่มีความพยายามแก้ไขจุดบกพร่องของตนเองให้มากที่สุดทำให้เกิดความแตกต่างในด้านราคาของผลงาน เนื่องจากความพยายามของสองกลุ่มไม่เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนซื้อผลงานภาพวาดของนักศึกษาที่เรียนการวาดภาพของนักธุรกิจ จึงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องมูลค่าของภาพวาดที่ลงทุนซื้อแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นความสุนทรีย์ในการสะสมภาพและการส่งเสริมสนับสนุนนักศึกษาในอีกระดับหนึ่ง เพื่อว่าในอนาคตข้างหน้า นักศึกษาเหล่านี้จะมีโอกาสเจริญเติบโตเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงได้ ภาพเหล่านี้ก็จะมีมูลค่าตามขึ้นไปด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากนั้น ผู้ที่ลงทุนในภาพวาดเหล่านี้ มีมุมมองเหมือนการลงทุนในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือการเล่นหุ้นโดยทั่วไป และยังมีมุมมองว่ามูลค่าของทองคำอาจจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอีกสิบปีข้างหน้า

แต่รูปภาพอาจจะมีราคาหรือไม่มีราคาทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรู้พื้นฐานของนักธุรกิจที่รักในการสะสมภาพเช่นกัน ผู้ลงทุนอาจจะต้องอาศัยผู้มีความรู้ในเรื่องภาพวาดให้คำแนะนำด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อว่าในอนาคตภาพวาดที่ลงทุนซื้อมาจากนักศึกษาที่เรียนวาดภาพ จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากความสามารถในการสร้างชื่อเสียงต่อไปในอนาคตของนักศึกษา และเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในที่สุด การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง การลงทุนในการซื้อภาพวาดเพื่อหวังเก็งกำไรในอนาคตก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน

ดังนั้นการลงทุนในการซื้อภาพวาดจากนักศึกษา ไม่ควรคาดหวังว่าจะเกิดกำไรแน่นอนในอนาคตแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรจะมองว่าภาพเหล่านี้ ก่อให้เกิดสุนทรียภาพทางอารมณ์ ก่อให้เกิดความผ่อนคลาย และมีลงทุนซื้อเพราะมีความชื่นชอบในภาพนั้นๆ จะทำให้มีความสุข และไม่เกิดความเครียดในการลงทุนซื้อภาพวาดอีกทางหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน