“มีหลายงานวิจัยบอกว่า การอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่สีเขียว จะทำให้คนมีความสุข ลดอาการซึมเศร้า และส่งผลให้อัตราการเกิดอาชญากรรมลดลงกว่า 50% ซึ่งการดำเนินงานในแต่ละเมืองล้วนมีลักษณะเฉพาะในการทำให้กลายเป็นเมืองสีเขียว แต่สิ่งสำคัญคือความร่วมมือให้เกิดขึ้นได้จริงของทุกฝ่าย” ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 5 กล่าวในเวทีวิชาการ Green City “Thailand Social Expo 2019” ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ สังคมไทยยั่งยืน – Partnership for Sustainability” โดยจัดขึ้นเพื่อนำเสนอประสบการณ์การพัฒนาชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งในเมืองและชนบท การจัดการสิ่งแวดล้อม เมืองสีเขียว ฯลฯ

ดร.นพ.ไพโรจน์ ให้ข้อมูลว่า Green city หรือ เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หมายถึง เมืองที่ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีประชากรที่ตระหนักถึงระบบนิเวศ และดำเนินชีวิตบนแนวคิดของความยั่งยืน เพื่อลดการพึ่งพาการใช้ทรัพยากร ทั้งพลังงาน อาหารและน้ำ รวมไปถึงเพื่อลดการปลดปล่อยของเสียในระบบนิเวศทั้งในรูปของความร้อนและมลพิษต่าง ๆ

สำหรับการทำงานของ สสส. ได้ดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพในทุกมิติ โดยเรื่องของสิ่งแวดล้อมถือเป็นองค์ประกอบในการสร้างสุขภาพที่ดี ซึ่งที่ผ่านมา สสส. พยายามสนับสนุนให้เกิดพื้นที่โมเดล เพื่อเป็นต้นแบบสู่พื้นที่อื่น ๆ เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วนเพลินจิตที่ถูกปล่อยทิ้งว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ ได้มีการพัฒนาเป็นลานกีฬาและแปลงเกษตร รวมถึงเป็นพื้นทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชน และได้ร่วมพัฒนาชุมชนตลาดน้อยพื้นที่สายวัฒนธรรมไทย-จีนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เกิดการพัฒนาเป็นพื้นที่สุขภาวะ น่าอยู่ น่าเดิน สร้างมูลค่าให้น่าสนใจ แต่ยังคงบรรยากาศดั้งเดิมโดยเชื่อมวัฒนธรรมของชุมชนกับเมืองเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่โพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่จัดชมรมเชื่อมโยงกิจกรรมปั่นจักรยานในชุมชนเป็นเมืองแห่งสุขภาวะ และอีกพื้นที่เด่นคือ ชุมชนภาษีเจริญ ที่ได้ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาข้อจำกัดเชิงพื้นที่ของความเป็นเมือง ให้กลับกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาพ

ดร.นพ.ไพโรจน์ ย้ำอีกว่า การออกกำลังที่น้อยลงของคนไทย ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs การสนับสนุนให้เกิดพื้นที่สีเขียวที่สามารถเดิน หรือออกกำลังจะช่วยปรับพฤติกรรมเสี่ยงให้ลดลงได้ ซึ่งการจะเปลี่ยนให้กลายเป็นเมืองสีเขียวนั้น จำเป็นต้องได้รับการวางแผน นโยบาย และการดำเนินการจากภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือจากภาคเอกชนและชาวเมืองทุกคนจึงจะสำเร็จได้

ด้าน นางชนิสรา ละอองดี ผู้แทนเครือข่ายชุมชนเมืองภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เล่าว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ของชุมชนเมืองคือ ความต่างด้านความคิด และความร่วมมือกันทำสิ่งต่าง ๆ ค่อนข้างน้อยกว่าชุมชนนอกเมือง ปัญหาจะถูกแก้ไขไปทีละเรื่องโดยไม่มีการพัฒนาหรือเตรียมพร้อม จนเมื่อเกิดผลกระทบน้ำท่วมในปี 54 เกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน ขาดแคลนอาหารเนื่องจากที่อยู่อาศัยถูกล้อมไปด้วยน้ำ จนเมื่อน้ำเริ่มลดลงจึงเกิดการประชุมพูดคุยกัน นอกจากนี้ สสส. หน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนแนวทางปรับปรุงพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่สุขภาวะ (Healthy Space) ทั้งด้านการออกกำลังกาย ด้านอาหารและการปรับภูมิทัศน์ การจัดการขยะ โดยปัจจุบันเขตภาษีเจริญได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สุขภาวะแล้วกว่า 12,204 ตารางวา

นางชนิสรา กล่าวว่า หนึ่งในความโดดเด่นของภาษีเจริญคือ การส่งเสริมให้เกิดการปลูกผักอินทรีย์จนเกิดระบบเศรฐกิจในชุมชน และเป็นพื้นที่สีเขียวในเมืองที่เป็นต้นแบบให้กับหลายพื้นที่ ขณะเดียวกันเรายังคงทำงานอย่างต่อเนื่องทั้งการจัดการขยะ และการสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน เพื่อให้พื้นที่ภาษีเจริญเป็นพื้นที่สุขภาวะที่ยั่งยืน

การพัฒนาพื้นที่สีเขียวเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรให้การสนับสนุน แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ถ้าเป็นไปได้จริง ท้ายที่สุดแล้ว ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพชีวิตของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน