จี้สังคมอย่าละเลยเด็กถูกกระทำความรุนแรง

จี้สังคมอย่าละเลยเด็กถูกกระทำความรุนแรง – การกระทำความรุนแรงต่อเด็กไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ รวมถึงความรุนแรงทางเพศ การละเลยทอดทิ้ง ฯลฯ ล้วนส่งผลเสียหายต่อเด็กยาวนานและต่อเนื่อง อาจทำให้เด็กเกิดความกลัวหรือเห็นว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติและใช้ความรุนแรงในชีวิตประจำวันจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

จี้สังคมอย่าละเลยเด็กถูกกระทำความรุนแรง

ณัฐวดี

ณัฐวดี ณ มโนรม นักสังคมสงเคราะห์เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และรองประธานกรรมการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ให้ความเห็นว่าความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อเด็กโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กในประเทศไทยที่จะได้รับเคสบ่อยๆ เป็นความรุนแรงที่เกิดจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ รองลงมาถูกกระทำด้านร่างกาย คือถูกตี ถูกทำร้าย ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องวัฒนธรรมความเชื่อ เมื่อลูกดื้อก็ต้องตีเพื่ออบรมสั่งสอนจึงไม่ถือว่าเป็นความรุนแรงที่ต้องพาเด็กมาพบแพทย์ ยกเว้นเด็กได้รับความรุนแรงมากๆ ถึงขั้นบาดเจ็บ สรุปจากสถิติกลุ่มที่เป็นประเด็นหลักที่มาพบแพทย์คือกลุ่มที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

จี้สังคมอย่าละเลยเด็กถูกกระทำความรุนแรง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหามีหลายอย่าง เช่น ปัจจัยแรก ผู้กระทำไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ปัจจัยที่ 2 เนื่องจากประเทศเรามีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ที่เป็นสัดส่วน ในห้องเดียวอาจอยู่รวมกันหลายคน ทั้งพ่อแม่ พ่อเลี้ยง ทำให้แต่ละคนไม่มีขอบเขต ไม่เป็นส่วนตัว ถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าได้ง่าย และปัจจัยที่ 3 ระบบการสื่อสารไอทีที่ก้าวหน้ามาก เข้าถึงง่าย ทุกคนดูอะไรก็ได้จากโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะหนังที่มีความรุนแรง มีเรื่องเพศทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกแล้วควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็เลยมากระทำต่อเด็ก อีกส่วนจะเป็นการใช้สารเสพติด อีกสาเหตุหนึ่งที่พบมากคือพ่อแม่หรือผู้ปกครองป่วยทางด้านจิตเวช

จี้สังคมอย่าละเลยเด็กถูกกระทำความรุนแรง

“สิ่งหนึ่งที่เราพบคือสังคมไม่ตระหนักเพียงพอ ไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม เราจะเห็นจากข่าวบ่อยๆ ว่าเด็กที่ถูกทำร้ายจะถูกตี ถูกทำร้าย หรือถูกปล่อยปละละเลยมาก่อน คนก็จะมองว่าพ่อแม่เขารัก พ่อแม่เขามีความจำเป็น หรือว่ามันเล็กน้อยไม่เป็นไร จนกระทั่งเด็กเสียชีวิต คนก็จะเริ่มเดือดร้อน ตำหนิ ด่าทอ ไม่พอ ใจที่เด็กถูกกระทำ ฉะนั้นสังคมต้องตระหนักว่าเรื่องนี้ปล่อยไม่ได้ ต้องช่วยกันดู เมื่อเห็นเหตุการณ์ต้องรายงานผู้ทำหน้าที่เพื่อให้หาสาเหตุความรุนแรงว่าพ่อแม่รุนแรงเพราะอะไร เพราะไม่เข้าใจ หรือเพราะควบคุมตัวเองไม่ได้ ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับ กฎหมายคุ้มครองเด็กก็ยังไม่ถูกนำมาใช้เต็มที่”

ณัฐวดีกล่าวเสริมถึงผลกระทบของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว มีปัญหา แตกแยก หรือโทษกันว่าใครทำให้เกิดเรื่องนี้ โดยไม่ได้มองว่าเด็กเป็นผู้เสียหาย ถ้าเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงและผู้กระทำคือคนในครอบครัว เราจำเป็นต้องแยกเด็กออกจากครอบครัวชั่วคราว หรือถาวร เพื่อความปลอดภัยของเด็ก อันนี้เป็นผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นอน ทั้งนี้ ควรรณรงค์ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง จะช่วยสนับสนุนครอบครัว เด็กจะสามารถอยู่กับครอบครัวได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยมากขึ้น

จี้สังคมอย่าละเลยเด็กถูกกระทำความรุนแรง

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา จุดหลักคือทำให้ครอบครัวที่มีเด็กเกิดความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็กเป็นอันดับแรก อันดับที่สอง ต้องสร้างความรักและความผูกพันระหว่างพ่อแม่และเด็กสร้างวินัยเชิงบวกกับเด็ก ควรเปลี่ยนแปลงการพูดสื่อสารทางลบที่ส่งผล กระทบต่อเด็กโดยการใช้วิธีการสื่อสารเชิงบวกแทน เปิดโอกาสให้เด็กช่วยเหลือทำงานบ้านเหมาะสมตามช่วงวัย ให้เด็กรับรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ขณะเดียวกันสังคมควรเปิดพื้นที่ให้เด็กทำกิจกรรมทางสังคมเชิงสร้างสรรค์ที่เด็กชอบ

“เรามีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้หลายหน่วยงาน ต้องช่วยกัน เน้นการรวมพลังจากหลายๆ ส่วนเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงให้มากขึ้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในบ้าน ในโรงเรียน รวมถึงโรงพยาบาล ชุมชน ซึ่งมีความสำคัญในการส่งเสริมการเริ่มต้นของครอบครัว ทุกคน ทุกส่วนของสังคมต้องช่วยกัน หวังด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้” ณัฐวดีกล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน