กบฏบวรเดช (ตอนจบ)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย น้าชาติประชาชื่น

รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติประชาชื่น : กบฏบวรเดช (ตอนจบ) – วานนี้ (15 ต.ค.) “จีนะ” ขอทราบรายละเอียดเหตุการณ์กบฏบวรเดช เมื่อวานตอบเหตุแห่งการกบฏไปแล้ว วันนี้พบกับผลที่ตามมา

เหตุการณ์กบฏบวรเดช (หรือที่ผู้ก่อการเรียกตนเองว่า คณะกู้บ้านกู้เมือง) ทหารฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิต 17 ราย มีการจัดงานรัฐพิธีที่ท้องสนามหลวง และสร้างอนุสาวรีย์จารึกชื่อของวีรชนเหล่านี้ที่หลักสี่ บางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบ เรียกว่า “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” หรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เป็นอนุสาวรีย์ที่มีพานรัฐธรรมนูญเป็นแห่งแรก เป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติประชาชื่น : กบฏบวรเดช (ตอนจบ)

เกี่ยวกับการใช้ทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) เป็นสถานที่จัดรัฐพิธีเป็นเกียรติแก่ผู้เสียชีวิต มีบันทึกว่า รัชกาลที่ 7 ไม่ทรงยินยอม แต่คณะราษฎรยืนยันจะสร้างเมรุชั่วคราวขึ้น ที่สุดทรงยินยอมแต่ระบุถ้อยคำทำนองว่า “ไม่ได้เป็นพระราชประสงค์” เมรุชั่วคราวนี้ถือเป็นเมรุสามัญชนแรกบนท้องสนามหลวง ซึ่งก่อนหน้าใช้เป็นที่ประกอบพิธีสำหรับเชื้อพระวงศ์เท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันอนุสาวรีย์ปราบกบฏถูกย้ายให้หายลับไปจากสายตาประชาชนตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2561

ย้อนสำรวจผลที่เกิดขึ้นระหว่างและหลังเหตุการณ์ก่อการกบฏ สำคัญคือ นายทหารฝ่ายกบฏ ได้แก่ นายพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อ 23 ตุลาคม ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายาขึ้นเครื่องบินเดินทางหนีไปยังเมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม และต่อไปยังประเทศกัมพูชาตามลำดับ กลับมายังประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ.2491 ขณะที่หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พระอนุชา ถูกทหารจับกุม

นายทหารฝ่ายที่ร่วมการกบฏถูกจับกุมกว่า 600 คน โดยนำทั้งทหารและพลเรือนผู้เกี่ยวข้องคุมขังที่เรือนจำบางขวาง จากนั้นรัฐบาลตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีและตัดสินลงโทษรวม 230 คน ถูกปลดจากราชการ 117 คน ในจำนวนนี้ถูกลงโทษประหารชีวิต 5 คน แต่ที่สุดแล้วไม่มีการประหารชีวิต เพราะรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ ทำให้รัฐบาลอภัยโทษให้บรรดาผู้รับโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต และผู้ได้รับโทษจำคุกก็ได้รับการลดโทษตามลำดับขั้น

รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติประชาชื่น : กบฏบวรเดช (ตอนจบ)

พ.ศ.2482 นักโทษการเมืองจำนวนหนึ่งจากเหตุการณ์นี้ พร้อมกับนักโทษการเมืองอีกจำนวนหนึ่งจากเหตุการณ์กบฏนายสิบ ถูกส่งไปกักบริเวณอยู่ที่อ่าวตะโละอุดัง นิคมฝึกอาชีพตะรุเตา เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา กระทั่งปี 2487 จึงปล่อยตัวบรรดาผู้ได้รับโทษทั้งหมดจากการนิรโทษกรรม

อีกด้านสำคัญที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์กบฏบวรเดช คือภาคประชาชน นักวิชาการ ณัฐพล ใจจริง เขียนไว้ในบทความเรื่อง “บทบาทพลเมืองสยามปราบกบฏบวรเดช” ตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ความตอนหนึ่งว่า “นอกจากให้การสนับสนุนการปกป้องระบอบประชาธิปไตยของพลเมืองด้วยการเป็นอาสาสมัครปราบกบฏแล้ว กิจกรรมการสนับสนุนรัฐบาลด้วยสิ่งของเครื่องใช้และเงินทุนเป็นกิจกรรมอีกสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นอย่างมาก

รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติประชาชื่น : กบฏบวรเดช (ตอนจบ)

ทั้งนี้ สิ่งของที่ประชาชนร่วมบริจาคมีตั้งแต่เงิน อาหาร ผลไม้ ข้าวห่อ บุหรี่ นมข้นหวาน ขนมปังปอนด์ เครื่องกระป๋อง ปลากระป๋อง ปลาเค็ม กล้วยหอม อ้อยควั่น ข้าวต้มมัด น้ำส้มคั้นใส่น้ำแข็ง กาแฟ ซาลาเปา ยาน้ำมันกระดูกเสือ ยาหอม ไพ่ป๊อก ยานัตถุ์ หนังสือรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งบริจาคกระดาษเพื่อห่อข้าวลำเลียงอาหารขึ้นไปแนวหน้าของสมรภูมิ เป็นต้น

มีการบริจาคทรัพย์ให้รัฐบาลกรณีหนึ่งที่สมควรบันทึกไว้ คือ กรณี นางปุ่น สุภาพันธ์ โรงพยาบาลอเมริกัน จังหวัดเพชรบุรี เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2476 ขอบริจาคแหวนทองแต่งงานให้รัฐบาลนำไปขายเพื่อสมทบทุนการปราบกบฏว่า ‘ดิฉันเป็นราษฎรสามัญชนคนหนึ่งซึ่งไม่มั่งมีศรีสุขอย่างใด แต่ทั้งกายและใจของดิฉันเคารพมั่นคงในรัฐธรรมนูญซึ่งใต้เท้าได้เป็นประมุขนำมาหยิบยื่นให้ด้วยพลีชีวิต ดิฉันพร้อมแล้วที่จะสละทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อประเทศต้องการเพื่อรักษารัฐธรรมนูญของชาติให้สถิตสถาพรอยู่ ดังนั้น ดิฉันได้ส่งแหวนมาพร้อมจดหมายนี้ 1 วง แม้จะเป็นแหวนทองเกลี้ยงๆ ไม่มีราคาเท่าใดนัก แต่เป็นของมีค่าที่สุดของดิฉันสิ่งหนึ่ง เพราะเป็นแหวนวิวาห์ของดิฉัน’

นอกจากนี้ รัฐบาลได้รับความช่วยเหลือจากโรงพิมพ์ศรีกรุง ไทยใหม่ ประชาชาติ หลักเมือง จัดพิมพ์ใบปลิว แถลงการณ์ ประกาศของรัฐบาลโดยไม่คิดมูลค่าอีกด้วย”

ยืนยันความร่วมมือร่วมใจของพลเมืองด้วยภาพประทับใจ ประชาชนจำนวนมากพากันต้อนรับทหารที่ไปปราบกบฏกลับถึงกรุงเทพฯ ที่หน้าสถานีหัวลำโพง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน