กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ มีสัญญาณเตือน

‘ปวดไหล่-ยกแขนไม่สุด’

กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ มีสัญญาณเตือน‘ปวดไหล่-ยกแขนไม่สุด’ – อาการปวดไหล่ สามารถพบได้บ่อยและเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากปัญหาโครงสร้างของข้อไหล่ หรือภาวะข้อไหล่ ไม่มั่นคง หรืออาการปวดต่างที่ เช่น จากกระดูกต้นคอ ทรวงอก หรือในช่องท้อง ซึ่งอาการปวดในแต่ละโรคอาจเหมือนหรือแตกต่างกันได้

น.ท.นพ.พรเทพ ม้ามณี ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าและข้อไหล่ และแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ กล่าวว่า สาเหตุของอาการปวดไหล่ที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อไหล่ติด ข้อไหล่หลุด ข้ออักเสบ ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก และกระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ เป็นต้น

กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ มีสัญญาณเตือน‘ปวดไหล่-ยกแขนไม่สุด’

น.ท.นพ.พรเทพกล่าวว่า โรคกระดูกงอกเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เมื่อกระดูกเกิดความเสื่อม แตก หัก ร่างกายจะนำแคลเซียมไปซ่อมแซมและทำให้กระดูกนั้นๆ เกิดเป็นแคลเซียมที่ผิดธรรมชาติ เรียกว่ากระดูกงอก เกิดขึ้นได้กับกระดูกทุกส่วนในร่างกาย

ส่วนกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ และภาวะหินปูนเกาะเส้นเอ็น เกิดได้จากความเสื่อมของร่างกายและข้อไหล่ ร่างกายสร้างหินปูนขึ้นมาจับและพอกขึ้นจนเป็นกระดูกงอกออกมาจากกระดูกปกติ จนกดเบียดเส้นเอ็นที่อยู่ด้านล่างของกระดูก พบมากในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงมาจากการใช้งาน

เช่น การทำงานที่ส่งผลกระทบต่อข้อไหล่มากๆ ทำให้เอ็นที่เกาะกล้ามเนื้อฉีกขาดและไม่ได้รับการรักษา ร่างกายจึงพยายามสร้างหินปูนมาเชื่อมบริเวณที่บาดเจ็บ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และการเล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อไหล่มากๆ เช่น การเล่นเวต เทนนิส แบดมินตัน เป็นต้น

กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ มีสัญญาณเตือน‘ปวดไหล่-ยกแขนไม่สุด’

น.ท.นพ.พรเทพกล่าวว่า การรักษา แพทย์จะวินิจฉัยโรคจากอาการ การซักประวัติ และตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจแบบอื่นเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น ตรวจเอกซเรย์ดูความผิดปกติของกระดูก หรือตรวจ MRI เพื่อวินิจฉัยภาวะเสื่อมหรือการขาดของเส้นเอ็นบริเวณไหล่ และยังสามารถให้รายละเอียดของกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อรอบข้อไหล่ได้ดี โดยแบ่งการรักษาออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ

คือ 1.ไม่ต้องผ่าตัด สำหรับกรณีผู้ป่วยมีกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ระยะเริ่มต้น และไม่มีอาการของข้อไหล่ฉีกขาดร่วมด้วย โดยจะใช้วิธีทานยา ฉีดยา หรือทำกายภาพบำบัดร่วมกับลดกิจกรรมที่กระทำต่อข้อไหล่ ออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อฝ่อตัวจากการไม่ได้ใช้งาน บางรายใช้เวลาในการรักษาไม่นาน บางรายรักษาไม่หายทนทรมานต่อความเจ็บปวด หากทำทุกวิธีแล้วยังไม่ดีขึ้นอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด

กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ มีสัญญาณเตือน‘ปวดไหล่-ยกแขนไม่สุด’

2.การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ ร่วมกับมีปัญหาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดร่วมด้วย ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อข้างเคียง เสียเลือดน้อย โอกาสติดเชื้อหลังผ่าตัดต่ำ และลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเปิดแบบในอดีต โดยเป็นการกรอกระดูกที่งอกกดทับเอ็นข้อไหล่ ผ่าตัดแต่งเนื้อเอ็นที่ขาดให้เรียบ และเย็บซ่อมเอ็นหุ้มข้อไหล่ที่ฉีกขาด ถือเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ โดยคนไข้สามารถทำกายภาพขยับไหล่ได้ตั้งแต่วันแรกหรือวันที่สองหลังผ่าตัด ลดการบาดเจ็บจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ต้องเปิดแผลกว้างเพื่อเข้าไปเย็บเส้นเอ็นเล็กๆ เส้นเดียวที่หัวไหล่

น.ท.นพ.พรเทพ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยคลื่นกระแทกความถี่สูง เป็นเครื่องบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดจากการอักเสบและมีการสะสมของหินปูนที่เอ็นกล้ามเนื้อไหล่ เพิ่มประสิทธิภาพในการสลายแคลเซียม และเพิ่มกระบวนการไหลเวียนเลือด คลื่นกระแทกสามารถส่งผ่านจากภายนอกร่างกายเข้าไปยังตำแหน่งเป้าหมาย นอกจากจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณไหล่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบ และเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวข้อไหล่ให้กลับมาใกล้เคียงปกติได้เร็วขึ้น

กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ มีสัญญาณเตือน‘ปวดไหล่-ยกแขนไม่สุด’

ส่วนการป้องกันภาวะกระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ คือ 1.ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป 2.รับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วน โดยเฉพาะโปรตีน พืชผัก ผลไม้ 3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายแบบเต้นหรือแกว่งแขน ไปมา เนื่องจากอาจทำให้เอ็นข้อไหล่ทำงานมากขึ้นเกิดการอักเสบหรืออาจฉีกขาดได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน