วัดความเสี่ยงมีบุตรยากด้วยการตรวจระดับฮอร์โมน‘AMH’

คอลัมน์ ข่าวสดสุขภาพ

วัดความเสี่ยงมีบุตรยากด้วยการตรวจระดับฮอร์โมน‘AMH’ – คู่แต่งงานที่ประสบปัญหาการมีบุตรยากถึงร้อยละ 40 ส่วนใหญ่มักไม่พบสาเหตุ

วัดความเสี่ยงมีบุตรยากด้วยการตรวจระดับฮอร์โมน‘AMH’

ธีรยุทธ์ จงวุฒิเวศย์

นพ.ธีรยุทธ์ จงวุฒิเวศย์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ และหัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร ร.พ.พญาไท 2 กล่าวว่า ปัญหานี้ไม่สามารถโทษว่าเป็นความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ตามสถิติระบุว่าคู่สมรสที่ประสบภาวะมีบุตรยากที่ทราบสาเหตุมักจะมีสาเหตุจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิงในอัตราเท่าๆ กันนั่น คือ ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายร้อยละ 40 มีสาเหตุจากทั้งสองฝ่ายร้อยละ 20

ปกติแล้วผู้หญิงเรามีไข่ในรังไข่จำกัด ไข่เหล่านี้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนหรือสร้างขึ้นใหม่ได้ เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก จะมีไข่เพียง 3-4 แสนฟอง และในแต่ละเดือนจะมีไข่หลายใบโตขึ้นเพื่อแข่งขันกัน และตกออกมาใช้งานเพียง 1 ฟองเท่านั้น พออายุมากขึ้น จำนวนไข่จึงเริ่มน้อยลง คุณภาพก็ด้อยตามลงไป จึงเป็นผลให้ผู้หญิงช่วงวัย 40-49 ปีขึ้นไป ประสบปัญหาการมีบุตรยาก และเมื่ออายุ 49-50 ปีจะเป็นช่วงเข้าสู่วัยทอง รังไข่หยุดทำงาน ประจำเดือนหมด และจะไม่สามารถมีลูกได้

วัดความเสี่ยงมีบุตรยากด้วยการตรวจระดับฮอร์โมน‘AMH’

นพ.ธีรยุทธ์กล่าวด้วยว่า สาวที่แต่งงานเร็วก็มีโอกาสจะเป็นภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยากได้เช่นกัน โรคนี้พบในคนอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่รังไข่ทำงานลดน้อยลงหรือเหลือปริมาณไข่ในรังไข่น้อย จึงทำให้คุณผู้หญิงเสี่ยงต่อการมีบุตรยาก

สาเหตุของภาวะดังกล่าวอาจเกิดจากโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน โรคทางพันธุกรรม การรับคีโมหรือฉายรังสีเพื่อรักษาโรค และเรายังพบว่ามีคนไข้จำนวนมากที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดเช่นกัน ที่สำคัญก็คือในระยะเริ่มต้นของภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดจะไม่มีการแสดงอาการแต่อย่างใด และจะส่งสัญญาณประจำเดือนมาไม่ปกติ เมื่อรังไข่เริ่มเสื่อมไปมากแล้ว

วัดความเสี่ยงมีบุตรยากด้วยการตรวจระดับฮอร์โมน‘AMH’

อย่างไรก็ตามคุณผู้หญิงสามารถรู้ว่าตัวเองเป็นภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดได้ โดยใช้การตรวจฮอร์โมน AMH ในการตรวจคัดกรองได้ ขอแนะนำว่าผู้ที่มีความต้องการจะมีบุตรตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรรีบตรวจให้แน่ใจ แม้จะไม่ได้มีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติก็ตาม

นพ.ธีรยุทธ์กล่าวว่า สำหรับ AMH หรือ Anti-Mullerian hormone เป็นฮอร์โมนหนึ่งของผู้หญิง จะมีปริมาณสัมพันธ์กับจำนวนไข่ใบเล็กๆ ในรังไข่ แพทย์จึงใช้ฮอร์โมนนี้ในการตรวจวัดปริมาณของไข่ในรังไข่ได้ ซึ่งเป็นการตรวจแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ ด้วยความแม่นยำในการตรวจที่มากกว่าการตรวจด้วย FSH : Follicle- Stimulating hormone หรือการทำอัลตรา ซาวน์นับฟองไข่ในวันที่ 2-3 ของประจำเดือน

วัดความเสี่ยงมีบุตรยากด้วยการตรวจระดับฮอร์โมน‘AMH’

วิธีการตรวจง่าย ๆ เพียงแค่เจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับ AMH และส่งตัวอย่างเลือดไปยังห้องแล็บ ซึ่งจะทราบผลการตรวจได้ภายใน 1-2 วัน หากระดับสูง แสดงว่าไข่มีปริมาณมาก ถ้าระดับค่าต่ำก็แปลว่าไข่เหลือในปริมาณน้อย

การตรวจนี้จะทำให้เรารู้ว่ารังไข่ทำงานเป็นอย่างไร จะได้วางแผนการมีบุตรต่อไปได้อย่างวางใจ

นอกจากนั้นยังสามารถใช้ AMH ทำนายการตอบสนองของรังไข่ว่าจะตอบสนองมากน้อยเพียงใด หากเข้ารับการกระตุ้นรังไข่ในกระบวนการของเทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร และใช้ทำนายการตอบสนองรังไข่ว่าจะมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปหรือไม่ได้อีกด้วย

นพ.ธีรยุทธ์กล่าวอีกว่า สำหรับภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดไม่ถือเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะไม่ได้หมาย ความว่าหากเป็นโรคนี้แล้วจะไม่สามารถมีลูกได้ แนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อค้นหาต้นเหตุเพื่อรักษาไม่ให้อาการแย่ลง หรือในกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แพทย์แนะนำให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง มีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไข่ตกเพื่อให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากที่สุด แต่หากยังไม่ประสบความสำเร็จก็สามารถใช้เทคนิคเข้ามาช่วยในการมีบุตรได้เช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน