มั่นคง สันติภาพ ยั่งยืนเป้าหมายกลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

มั่นคง สันติภาพ ยั่งยืนเป้าหมายกลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา – ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ประเทศไทยมีการประชุมที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน นั่นคือ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ADMM-Retreat) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM-Plus) ซึ่งมีประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศ

ได้แก่ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา โดยมีประเทศไทยทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ งานนี้บรรดาสีเขียวทั้งหลาย ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงมาถึงข้าราชการกระทรวงกลาโหมทุกนาย ต้องปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเข้มแข็ง

มั่นคง สันติภาพ ยั่งยืนเป้าหมายกลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

เพราะนายกรัฐมนตรีออกปากเอง “ให้ทำหน้าที่เจ้าภาพที่ดี” และยังโพสต์ข้อความส่วนตัวในเฟซบุ๊กหลังเสร็จสิ้นการประชุม ขอบอกขอบใจคนไทยที่มีความรักความสามัคคี ช่วยกันทำให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ บรรลุตามเป้าหมาย ช่วยเพิ่มความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ไทย-อาเซียน และประเทศต่างๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถ เพิ่มศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยและภูมิภาค

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา หรือ ADMM-Plus ครั้งที่ 6 เป็นการประชุมที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นการแสวงหาความร่วมมือจากประเทศมหาอำนาจใหญ่ของโลก นอกภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทเกี่ยวพันกับอาเซียนอย่างสูงในปัจจุบัน อาทิ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และยังมีสหรัฐอเมริกา

มั่นคง สันติภาพ ยั่งยืนเป้าหมายกลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

ผลของการหารือกันทางด้านกลาโหมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความร่วมมือกันเป็นอย่างดีด้านความมั่นคง ทั้งของภูมิภาคและของโลก และยังช่วยเสริมสร้างและหนุนการทำงานของประชาคมอาเซียน

การประชุมทั้งสองวัน (18-19 พฤศจิกายน 2562) เสร็จสิ้นลง พร้อมกับการลงนามใน “แถลงการณ์ร่วม” ของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา โดยมี พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม (ผอ.สนผ.) ทำหน้าที่อ่าน “แถลงการณ์ร่วม” ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน

แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ระบุถึงการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ยืนยันความรับผิดชอบในการรักษาความสงบสุข สันติภาพ ความมั่นคง และความมีเสถียรภาพของภูมิภาค โดยการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ตอบสนองต่อประเด็นความมั่นคง และบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน และความมีไมตรีจิตอันดีต่อกัน

มั่นคง สันติภาพ ยั่งยืนเป้าหมายกลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

การประชุมครั้งนี้ ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านความมั่นคงในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ และเสริมสร้างความร่วมมือของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และตอบสนองต่อการต่อต้านภัยคุกคามอย่างมีประสิทธิภาพ เผชิญหน้ากับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

ขณะเดียวกันก็ธำรงไว้ซึ่งความเป็นแกนกลางของอาเซียนและความเป็นเอกภาพของอาเซียน ร่วมรับผิดชอบในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ให้ความร่วมมือเชิงปฏิบัติของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ได้แก่ การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ความมั่นคงทางทะเล ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน การต่อต้านการก่อการร้าย เครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการรักษาสันติภาพในกรอบอาเซียน การปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และความมั่นคงไซเบอร์

นอกจากนี้แล้ว ยังต้องรับพัฒนาการของความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในเชิงปฏิบัติร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ยึดมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและกลไกการปฏิบัติของผู้เชี่ยวชาญทางทหาร อีกทั้งหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางอาวุธผ่านการสนับสนุนการจัดตั้งกลไกการทำงาน การจัดทำสนธิสัญญา

ที่ประชุม ADMM-Plus ได้รับทราบผลการจับคู่เป็นประธานร่วมของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญฉพาะด้านในวงรอบปี 2563-2566 ซึ่งมีกระทรวงกลาโหมของไทยและกระทรวงกลาโหมสหรัฐ จะเป็นประธานร่วมในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเล ที่สำคัญอย่างยิ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตัวแทนจากประเทศไทย ได้ร่วมหารือทวิภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนของความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกอาเซียน ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

การประชุมครั้งนี้มีการลงนามร่วมกันในเอกสารความร่วมมือกับประเทศสมาชิก จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

1.บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ว่าด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางทหาร

2.แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่างไทย-สหรัฐ ค.ศ.2020 ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ

3.บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ

ตอนท้ายของแถลงการณ์ร่วมระบุ “พวกเราขอให้คำมั่นในการรักษาสันติ ภาพและความมีเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยการเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและการทหาร ด้วยการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสันติ โดยยึดมั่นตามกฎระเบียบสากลและกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล และการรักษาและเคารพเสรีภาพทางการเดินเรือและการบิน รวมถึงการยกระดับการเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่างๆ ในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา รวมถึงกลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงต่างๆ ทั้งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน

จากนั้นเป็นพิธีส่งมอบประธานการประชุม ADMM ในปี 2563 ให้กับกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยกระทรวงกลาโหมของไทยพร้อมให้การสนับสนุนเวียดนามในการประชุม ADMM-Plus ครั้งต่อไปอย่างเต็มความสามารถ อีกทั้งผลสำเร็จของการประชุม ADMM และ ADMM-Plus ในปีนี้ เป็นการแสดงถึงศักยภาพและบทบาทด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาคให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงของอาเซียนและยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน