ปางห้ามพระแก่นจันทร์

คอลัมน์ : คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรม

ปางห้ามพระแก่นจันทร์ – เป็นพระพุทธรูปอิริยาบถยืน พระกร (มือ) ขวาห้อยข้างพระวรกาย พระหัตถ์ (มือ) ซ้ายยกเสมอพระอุระ (อก) ในกิริยาห้าม

พุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระมารดาและพักเข้าพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดุสิตนั้น (ในหลักฐานทางภูมิศาสตร์ น่าจะหมายถึงการจำพรรษาในภูเขาใกล้เมืองสาวัตถี แคว้นอุตตรประเทศอินเดียเหนือ พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ใช้ไม้แก่นจันทร์แกะเป็นรูปพระพุทธเจ้าเพื่อบูชาขณะที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่นั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกพรรษาในตำนานได้กล่าวว่า พระพุทธรูปแก่นจันทร์นั้นได้ลุกขึ้นยืนถวายความเคารพพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้แสดงกิริยาห้ามไว้ คติและสัญลักษณ์ในเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่น่าจะยกขึ้นมาวิตกวิจารณ์กันว่าความหมายถึงการห้ามของพระพุทธเจ้านั้นหมายความอย่างไร

หมายความว่า พุทธศาสนิกชนในขณะนั้นไม่สมควรสร้างรูปเคารพแทนองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศาสดา เพราะแม้ที่สุดในการเทศนาครั้งสุดท้าย พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสสั่งพระอานนท์ไว้ว่า “เมื่อตถาคต (คือพระพุทธเจ้าได้ดับขันธ์สิ้นไป) พระธรรมคำสั่งสอนที่ได้ตรัสไว้นั้นจะเป็นศาสดาแทนพระองค์” ฉะนั้น รูปของพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปนั้นจะต้องแสดงคำสอนของพระองค์ในวิธีที่เรียกว่า มุทรา หรือภาษากาย หรือแสดงพระธรรมในเรื่องราวต่างกันตามพระธรรมที่ได้แสดงครั้งแรก

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน