คริสต์มาสกับวันประสูติพระเยซู

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ จริงหรือไม่จริงที่ว่าไม่มีหลักฐานยืนยัน พระเยซูประสูติ 25 ธันวาคม

แชมป์

ตอบ แชมป์

รู้ไปโม้ด – “คริสต์มาส หรือพิธีมิสซาของพระคริสต์ หรือวันสมโภชพระคริสตสมภพ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ 25 ธันวาคม เพื่อเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซู

มีบทความเรื่องไบเบิลไม่บอกวันประสูติพระเยซู แล้วคริสต์มาสมาจากไหน?” เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com/ ว่า ในช่วงศตวรรษที่ 1-2 พบว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งบอกได้ถึงวันที่ประสูติของพระเยซู จะมีก็แต่เนื้อความบางตอนในคัมภีร์ไบเบิลที่พอจะให้เค้าโครงได้บ้าง โดยบันทึกไว้ว่า ในขณะที่คนเลี้ยงแกะกำลังต้อนแกะในยามกลางคืนก็เกิดได้ยินข่าวเกี่ยวกับการประสูติของพระเยซู

จากเนื้อความดังกล่าวทำให้สันนิษฐานได้ว่าในช่วงเวลานั้นน่าจะเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูใบไม้ร่วง เพราะถ้าหากเป็นฤดูหนาวแล้วแกะก็น่าจะต้องอยู่ในคอกตลอดเวลาเพื่อหลบอากาศที่หนาวเย็น ดังนั้น จากบริบทดังกล่าวจะเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่พระเยซูอาจไม่ได้ประสูติในวันที่ 25 ธันวาคม หรือแม้แต่ในช่วงฤดูหนาวเลยเสียด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นนักวิชาการก็ยังไม่พบว่ามีหลักฐานที่บ่งบอกถึงการเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสในยุคนั้นด้วย

ผ่านมาถึงราว ..200 เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย (Clement of Alexandria) นักเทววิทยาชาวกรีก บันทึกว่า ในสมัยนั้นมีการเสนอวันประสูติของพระเยซูโดยชาวคริสต์จากหลากหลายกลุ่ม แต่จากบันทึกนี้ก็พบว่าไม่มีชาวคริสต์กลุ่มใดที่เสนอให้วันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันประสูติของพระเยซูเลย กระทั่งล่วงเลยมาจนถึงศตวรรษที่ 4 ผู้คนเริ่มให้ความสนใจประเด็นดังกล่าวมากขึ้น มีการคาดเดาถึงวันประสูติที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ชาวโรมันตะวันตกเชื่อว่าพระเยซูประสูติในวันที่ 25 ธันวาคม ขณะที่โรมันตะวันออกเชื่อว่าน่าจะเป็นวันที่ 6 มกราคม

นอกจากนี้ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 4 พบว่ามีหลักฐานของโรมันที่บันทึกรายชื่อบาทหลวงและสาวกศาสนาคริสต์พร้อมกับวันเสียชีวิต ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าชื่อแรกที่พบในบันทึกดังกล่าวคือชื่อของพระเยซู พร้อมวันประสูติ ไม่ใช่วันสิ้นพระชนม์ ทั้งนี้ วันประสูติที่มีบันทึกไว้ก็คือวันที่ 25 ธันวาคม

จากหลักฐานและเรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ามีกระแสแนวคิดเกี่ยวกับวันประสูติของพระเยซูว่าเป็นวันที่ 25 ธันวาคมเป็นกระแสสำคัญ คำถามที่น่าสนใจต่อมาก็คือ ทำไมจึงต้องเป็นวันที่ 25 ธันวาคม? ซึ่งคำตอบยังไม่มีใครรู้ได้แน่ชัด จะมีก็แต่ทฤษฎี 2 ทฤษฎีหลักที่พอจะอธิบายได้ คือ

1.เนื่องจากวันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันที่ชาวโรมันโบราณซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนับถือลัทธิเพแกน หรือลัทธินอกศาสนา เฉลิมฉลองให้กับพระเจ้าหลายพระองค์ ชาวคริสต์ในขณะนั้นต้องการจะเผยแผ่ศาสนาจึงตั้งใจเลือกให้วันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันประสูติของพระเยซูเพื่อให้ตรงกับวันเฉลิมฉลองพระเจ้าของลัทธิเพแกน โดยเชื่อว่าวิธีการนี้จะทำให้ชาวลัทธิเพแกนร่วมฉลองวันประสูติของพระเยซู และเปิดใจให้ศาสนาคริสต์มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการไม่ได้เชื่อแนวคิดดังกล่าวอย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่พบว่ามีหลักฐานทางคริสตศาสนาใดๆ ที่บันทึกเรื่องราวเช่นนี้ไว้เลย สิ่งที่น่าจะมีความเป็นไปได้จากแนวคิดนี้คือ ธรรมเนียมในศาสนาคริสต์น่าจะได้รับอิทธิพลจากความเชื่ออื่นๆ โดยเฉพาะความเชื่อในลัทธิ เพแกน ดังจะเห็นได้ว่าแม้แต่ต้นคริสต์มาสก็คล้ายว่าจะเป็นสิ่งตกทอดมาจากธรรมเนียมของลัทธิเพแกนในยุคกลาง

2.แนวคิดที่ 2 นี้เป็นแนวคิดจาก Louise Duchesne นักวิชาการชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 20 ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อมาโดยนักวิชาการชาวอเมริกัน Thomas Talley ที่กล่าวว่า พระเยซูน่าจะประสูติวันเดียวกันกับวันที่สิ้นพระชนม์ ทั้งนี้ วันที่มีบันทึกว่าพระเยซูโดนตรึงกางเขนนั้นก็คือวันที่ 25 มีนาคม จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าพระองค์น่าจะลงมาจุติบนโลกในวันที่ 25 มีนาคม และประสูติ 9 เดือนหลังจากนั้นคือวันที่ 25 ธันวาคม

โดย[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน