หมอแจงขั้นตอนผ่าตัดปลูกผม

ทางเลือกของคนผมบาง-ศีรษะล้าน

รายงานสุขภาพ

หมอแจงขั้นตอนผ่าตัดปลูกผมทางเลือกของคนผมบาง-ศีรษะล้าน – ปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ปัญหาผมบาง ศีรษะล้าน ถือเป็น อีกหนึ่งปัญหาที่ทำลายสุขภาพจิตของหลายๆ คน

หมอแจงขั้นตอนผ่าตัดปลูกผมทางเลือกของคนผมบาง-ศีรษะล้าน

ก้องเกียรติ ลออวงศ์

นพ.ก้องเกียรติ ลออวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผม กล่าวว่า ปัญหาผมบาง ศีรษะล้าน ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงก็ประสบปัญหาเหมือนกัน เพียงแต่ส่วนมากมักจะเกิดกับเพศชายมากกว่าด้วยผลของฮอร์โมนเพศ ปัญหาศีรษะล้านส่วนใหญ่มาจากพันธุกรรม ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้การจัดการกับปัญหานั้นแลดูจะเป็นเรื่องยาก แต่ด้วยการแพทย์สมัยใหม่ปัญหาทุกอย่างปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ เรื่องเส้นผมก็เช่นเดียวกัน

สำหรับ 3 สาเหตุสำคัญ ที่เป็นอาการผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านเกิดจาก

1.พันธุกรรม : ถ่ายทอดแบบยีนเด่น ที่ตกทอดจากพ่อแม่ หรือบรรพบุรุษ

2.ฮอร์โมนเพศชาย เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ฮอร์โมนเพศชายจะส่งผลให้เส้นผมบบริเวณขมับและกลางกระหม่อม เส้นเล็กลง บางลง และมีอายุสั้นลง ในคนที่มีพันธุกรรมกำหนดไว้

3.อายุที่เพิ่มมากขึ้น และปัจจัยแวด ล้อมอื่นๆ เช่น ภาวะหนังศีรษะอักเสบจากเชื้อยีสต์ แสงแดด ความเครียด ภาวะทุพโภชนาการ ขาดธาตุเหล็ก และโลหิตจาง เป็นต้น

หมอแจงขั้นตอนผ่าตัดปลูกผมทางเลือกของคนผมบาง-ศีรษะล้าน

นพ.ก้องเกียรติกล่าวต่อว่า ศัลย กรรมการปลูกผมในปัจจุบันเป็นการผ่าตัดเล็กนั้นเป็นการย้ายเซลล์รากผมจากบริเวณท้ายทอยและด้านข้างทั้งสองข้างที่เป็นเส้นผมที่แข็งแรง และไม่ได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรม หรือจากฮอร์โมนเพศชายไดไฮโดรเทสทอสเตอโรน ไปปลูกบริเวณที่ผมบางหรือศีรษะล้านด้านหน้าหรือกลางกระหม่อม สิ่งสำคัญคือเซลล์รากผมด้านหลังดังกล่าวไม่ได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมนเพศชาย การปลูกผมจึงให้ผลลัพธ์ที่อยู่ยาวนานที่สุด

การผ่าตัดปลูกผมในปัจจุบันมี 2 แบบด้วยกัน หนึ่งคือวิธีการทำปลูกผมแบบมีแผลเย็บ (Strip technique/ FUT) คือการผ่าตัดหนังศีรษะจากบริเวณท้ายทอย แล้วนำมาแบ่งเป็นกอผม หรือ กราฟต์ ภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 10 เท่า ด้วยความประณีต วิธีที่สองคือวิธีที่เรียกว่า Follicular unit extraction (FUE) คือ การเจาะผมออกมาที่ละกอ ด้วยหัวเจาะขนาดเล็ก โดยแต่ละกราฟต์จะประกอบด้วยเส้นผม 1-4 เส้น กราฟต์เล็กๆ เหล่านี้จะถูกปลูกลงบริเวณที่ต้องการด้วยความระมัดระวังไม่ให้ทำลายรากผมเดิมที่แข็งแรงอยู่ และต้องคำนึงถึงมุมและองศาของผมที่มีอยู่ จึงทำให้ผมที่ได้ออกมาแน่น และแลดูธรรมชาติ ซึ่งจะแตกต่างกับการปลูกผมในอดีตที่ใช้กอผมใหญ่ๆ ปลูก ทำให้ผมปลูกเห็นเป็นกอๆ เหมือนกอต้นข้าวที่เป็น กระจุก ดูไม่เป็นธรรมชาติ

ในการปลูกผม จำนวนกราฟต์ที่ใช้และจำนวนครั้งในการผ่าตัดขึ้นอยู่กับว่าบริเวณที่ผมบางว่ามีมากน้อยเพียงไร และขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณผมที่เหลือบริเวณท้ายทอยด้วย ถ้าเป็นไม่มาก การปลูกผมครั้งเดียวก็มักจะให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ แต่ในคนไข้ที่มีศีรษะล้านมากอาจต้องปลูก 2-3 ครั้ง

นพ.ก้องเกียรติกล่าวอีกว่า การผ่าตัดในปัจจุบันนี้ได้ผลดี ปลอดภัย ไม่น่ากลัวและไม่เจ็บอย่างที่คิด หลังผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้ โดยผ้ายืดคาดที่หน้าผากและท้ายทอยเพื่อป้องกันอาการบวมที่หน้า อาการปวดส่วนใหญ่จะอยู่ที่แผลด้านท้ายทอยใน 1-2 วันแรก จะปวดไม่มาก ทานยาแก้ปวดก็หาย (เจ็บน้อยกว่าผ่าฟันคุด) ผลข้างเคียงน้อย, หลังผ่าตัด 24 ชั่วโมง แผลจะเริ่มเป็นสะเก็ดแห้งๆ เริ่มสระผมได้ ตัดไหมวันที่ 5-7 หลังผ่าตัด (กรณีผ่าตัดปลูกผมแบบมีแผลเย็บ) ภายใน 7-10 วัน สะเก็ดจะหลุดร่วงไป แต่เซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ที่รากผมจะยึดติดกับเนื้อเยื่อรอบๆ แล้ว จากนั้นผมที่ปลูกไปจะหลุดร่วงไปก่อนในช่วง 3-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด แล้วผมชุดใหม่จะงอกขึ้นมา 3-4 เดือนหลังผ่าตัด โดยเฉลี่ยผมจะยาว 1-1.5 ซ.ม.ต่อเดือน ดังนั้นกว่าผมจะยาวพอที่จะหวีจัดทรงได้ จะใช้เวลา 8-10 เดือนหลังผ่าตัด

“ด้วยวิวัฒนาการที่ก้าวหน้า การศัลยกรรมการปลูกผมจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนผมบางศีรษะล้าน ที่ต้องการผลลัพธ์ที่ชัดเจน และเป็นธรรมชาติ” นพ.ก้องเกียรติกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน