ม้ง (ตอนแรก)

: รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติประชาชื่น

ม้ง (ตอนแรก) น้าชาติ อยากทราบเรื่อง ชาติพันธุ์ม้ง เป็นมาอย่างไรก่อนมาอยู่ร่วมกันในประเทศไทย (เป็นความรู้ ไม่ดราม่านะครับ)

ตานาว

ตอบ ตานาว

คำตอบนำมาจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) www.sac.or.th ว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ระบุว่า ความหมายของคำว่า “ม้ง” แม้สำหรับม้งทั่วไปจะไม่ได้แปลว่าอะไรเลย แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านพยายามให้ความหมายว่าหมายถึง อิสระ หรือ อิสรชน ซึ่งก็เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะม้งหาได้ดำรงอยู่อย่างอิสระอย่างปราศจากการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มวัฒนธรรมกระแสอื่นๆ เรื่องเล่า ภาษาและวัฒนธรรมล้วนได้รับอิทธิพลจากกลุ่มสังคมกระแสหลัก ที่สำคัญมีการลุกขึ้นต่อสู้กับกลุ่มอำนาจกระแสหลักตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ม้ง (ตอนแรก)

ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแหล่งต้นกำเนิดของคนม้ง จากการสันนิษ ฐานที่ได้มาจากการตีความตำนาน เรื่องเล่า บันทึกความเชื่อกับพิธีกรรม และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับตัวพื้นที่กายภาพและคน เผยให้เห็นถึง 3 แนวคิดหลัก กล่าวคือ

ม้ง (ตอนแรก)

แนวคิดแรกสันนิษฐานว่า ม้งน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากดินแดนขั้วโลกเหนือ โดยอพยพผ่านไซบีเรียและมองโกเลียเข้ามายังดินแดนทางตอนเหนือของจีน จากนั้นลงมายังทางใต้ของจีน และต่อมาภายหลังส่วนหนึ่งเดินทางออกไปตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือที่ปัจจุบันเป็นประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และไทย ดังสะท้อนอยู่ในงานของ มิชชันนารีตะวันตกชื่อ Savina ซึ่งแนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อการศึกษาของนักวิชาการรุ่นหลังอย่าง Quincy และคนอื่นๆ อย่างมากที่พยายามอธิบายตัวตนม้งผ่านลักษณะกรรมพันธุ์ที่คล้ายกับคนผิวขาวในยุโรปที่มีผมสีบลอนด์และนัยน์ตาสีฟ้า

ม้ง (ตอนแรก)

แนวคิดที่สอง สันนิษฐานว่าต้นกำเนิดของม้งอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศมองโกเลียปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากตำนานที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงม้งคนหนึ่งชื่อ “เม่าเก้าเลีย” หรือ “มองโกเลีย” ที่ไม่กลัวสิ่งอันตรายใดๆ จนเป็นที่น่ายกย่องและนำมาสู่การเรียกชื่อพื้นที่ที่เด็กหญิงม้งคนนั้นอยู่ว่า มองโกเลีย เหตุนี้จึงมีการสันนิษฐานว่าม้งมีถิ่นกำเนิดในประเทศมองโกเลียปัจจุบัน

และ แนวคิดสุดท้าย สันนิษฐานว่า ม้งเป็นชนดั้งเดิมในจีน (aboriginal Chinese) แรกเริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ทางด้านตะวันออกของทะเลเหลือง จากนั้นได้เคลื่อนย้ายทำมาหากินตามแม่น้ำฮวงโหเข้ามาสู่บริเวณที่เป็นภาคกลางของจีน ต่อมาถูกรุกรานจากชาวมองโกลจึงได้อพยพลงมายังทางตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งปัจจุบันเป็นมณฑลเสฉวน กวางสี และยูนนาน ทั้งนี้ ภายหลังช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เกิดสงครามต่อต้านรัฐบาลส่วนกลางปักกิ่งที่ขูดรีดเก็บภาษีสูง ส่งผลให้ม้งส่วนหนึ่งอพยพออกจากดินแดนในจีนเข้ามายังพื้นที่บริเวณแถบอินโดจีนเพื่อการตั้งถิ่นฐานและการทำมาหากินใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และไทย

สำหรับประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานและการอพยพของม้งที่เกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา อาจแบ่งได้เป็น 3 ช่วงหลัก กล่าวคือ ช่วงแรกคือช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 การอพยพของม้งจากทางตอนใต้ของจีนเข้าสู่ทางตอนเหนือของเวียดนาม ลาว พม่า และไทย การอพยพเกิดขึ้นหลายระลอก ซึ่งล้วนแล้วแต่มีปัจจัยผลักดันจากต้นทางให้เกิดการอพยพ คือการช่วงชิงทรัพยากรของกลุ่มคนต่างๆ ในจีน ขณะเดียวกันความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ดอยสูงในแหลมอินโดจีนที่เหมาะกับการปลูกฝิ่นก็เป็นแรงดึงดูดคนม้งให้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน

การอพยพเข้ามาสู่เขตอิทธิพลของสยามในช่วงแรกนั้นไม่เป็นที่สังเกตหรือรับรู้โดยเจ้าเมืองประเทศราชของสยามแต่อย่างใด อันเนื่องมาจากการเข้าไปอยู่ตามพื้นที่ป่าตามดอยสูงต่างๆ ซึ่งศูนย์กลางของอำนาจของเจ้าเมืองและสยามเข้าไปไม่ถึง กอปรกับไม่มีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก ความสัมพันธ์ของม้งกับกลุ่มคนท้องถิ่นในพื้นที่จึงยังไม่เกิดขึ้น

ม้ง (ตอนแรก)

อย่างไรก็ตามใช่ว่าพวกเขาจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก การเป็นผู้ปลูกฝิ่นทำให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้า ทำมาค้าขาย และเดินทางหาประสบการณ์ร่วมกับคนจีนมุสลิมยูนนานที่เป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อฝิ่น ขณะเดียวกันก็นำของจำเป็น เช่น เกลือ ผ้า ไปขายตามหมู่บ้านม้ง

ฉบับพรุ่งนี้ (14 ม.ค.) อ่านกันต่อถึงการอพยพของชนม้งสู่เขตอิทธิพลของสยามช่วงที่สองและสาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน