ยุทธหัตถี : ที่มาแห่งเจดีย์

คอลัมน์รู้ไปโม้ด

โดยน้าชาติ ประชาชื่น

ยุทธหัตถี : ที่มาแห่งเจดีย์ – ฉบับวานนี้ (21 ม.ค.) “สิงห์ เทวา” อยากทราบถึงการกระทำยุทธหัตถี ที่มาของวันกองทัพไทย วัน เวลา และข้อเท็จจริง ที่มีหลักฐานแน่ชัด เมื่อวานตอบเรื่องวันเวลาไปแล้ว วันนี้มา ดูกันถึงข้อเท็จจริง คำตอบนำมาจากบทความ “การค้นพบหลักฐาน ‘เจดีย์ยุทธหัตถี’ ที่ใช้ยืนยันตำนานพระนเรศวรชนช้างเป็นเรื่องจริง” โดย เทพ บุญตานนท์ เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com/ สรุปความดังนี้

ยุทธหัตถี : ที่มาแห่งเจดีย์

ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระ มหาอุปราชมังกะยอชวา (หรือมังสามเกียด) ในพ.ศ.2135 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ถูกเน้นย้ำถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงตำราเรียน ชื่อเสียงและวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรในสงครามครั้งนี้ทำให้ผู้คนจำนวนมากเดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อสักการะเจดีย์ อย่างไรก็ตาม เจดีย์ยุทธหัตถีที่เชื่อว่าถูกสร้างขึ้นหลังจากที่ พระนเรศวรเอาชนะพระมหาอุปราชได้ในศึกคราวนั้น กลับเพิ่งค้นพบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

การมีชัยในสงครามยุทธหัตถีทำให้สถานะวีรบุรุษสงครามของสมเด็จพระนเรศวรมีความพิเศษเหนือพระมหากษัตริย์ พระองค์อื่นๆ ในประวัติศาสตร์ไทย แต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 การถกเถียงถึงการเกิดขึ้นจริงของสงครามยุทธหัตถีและการที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสังหารพระมหาอุปราชได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อพม่านำเสนอพงศาวดารฉบับหอแก้ว (Hmannan Maha Yazawindawgyi) ในพ.ศ.2375 ระบุว่า สมเด็จพระมหาอุปราชทรงสิ้นพระชนม์เพราะถูกยิง

ยุทธหัตถี : ที่มาแห่งเจดีย์

เพื่อตอบโต้พงศาวดารฉบับหอแก้ว สยามได้ตั้งหอสมุดสำหรับพระนครขึ้น มีหน้าที่ชำระ รวบรวม จัดพิมพ์ และเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ของชาติไทย รวมทั้งความรู้ทางประวัติศาสตร์ไทย เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามยืนยันการมีอยู่จริงของสงครามยุทธหัตถี ผ่านงาน “พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์” ซึ่งหอสมุดค้นพบใน พ.ศ.2450

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงต้องการใช้ภาพลักษณ์วีรบุรุษสงครามในสมเด็จพระนเรศวรสนับสนุนพระบรมราโชบายชาตินิยม ด้วยเหตุนี้การเริ่มต้นสำรวจทางโบราณคดีเพื่อค้นหาเจดีย์ยุทธหัตถีซึ่งเชื่อว่าถูกสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ชนช้าง อันจะเป็นการยืนยันว่าสงครามยุทธหัตถีได้เกิดขึ้นจริง จึงเริ่มต้นขึ้น เมื่อพระยาสุนทรสงคราม (อี้ กรรณสูต) ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งพยายามค้นหาเจดีย์ดังกล่าว

โดยใช้ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารที่บันทึกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ค้นพบพระเจดีย์ขนาดใหญ่ซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมตั้งอยู่กลางป่าบริเวณลำน้ำบ้านคอย แขวงเมืองสุพรรณ เจ้าพระยาสุนทรสงครามจึงได้ให้ช่างถ่ายรูป ประกอบทำแผนที่ระยะทาง และทำหนังสือกราบบังคมทูลในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2456

ทรงมีพระราชดำริว่าน่าจะเป็นเจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จ พระนเรศวรมีพระบรมราชโองการให้สร้างขึ้น และเพื่อยืนยันว่าเจดีย์ที่ค้นพบนั้นเป็นของจริง ทรงมีพระบรมราชโองการให้ขุดค้นพื้นที่รอบพระเจดีย์เพื่อค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีที่หลงเหลือจากสงครามในคราวนั้น ซึ่งในรายงานที่ทูลเกล้าถวายฯ ปรากฏว่าค้นพบอาวุธโบราณถูกฝังอยู่บริเวณดังกล่าว ทั้งธนู ปืนใหญ่ ยอดธงไชยนำพระคชาธารของกองทัพสมเด็จพระนเรศวร

ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2456 เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระเจดีย์ยุทธหัตถี กระบวนเสด็จพระราชดำเนินถึงพระเจดีย์ยุทธหัตถีในวันที่ 27 มกราคม 2456 หลังจากทรงกราบนมัสการพระเจดีย์ยุทธหัตถีแล้ว พระยาสุนทรสงครามได้ทูลเกล้าถวายสิ่งของโบราณที่พบบริเวณรอบๆ พระเจดีย์ หนึ่งในของโบราณที่ค้นพบคือ วชิระ ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นยอดธงไชยนำพระคชาธารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และในวันที่ 28 มกราคม ได้ทำพิธีบวงสรวงและสมโภชพระเจดีย์

ในรัชสมัยนี้เอง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์หนังสือประวัติศาสตร์ 2 เล่มที่มีส่วนสำคัญในการยืนยันว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีกับมังกะยอชวา คือ ไทยรบพม่า และพระประวัติสมเด็จ พระนเรศวร งานทั้งสองชิ้นได้บรรยายฉากรบระหว่างทั้งสองพระองค์ และสรุปว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงสังหารมังกะยอชวาสิ้นพระชนม์คาคอช้างในยุทธหัตถีคราวนั้น

ด้วยเหตุนี้เองตำนานการชนช้างระหว่างสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระมหาอุปราชจึงได้ถูกยืนยันว่ามีอยู่จริงผ่านการค้นพบเจดีย์ยุทธหัตถีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และถูกบันทึกสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน