ศิลปินผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าวาดภาพในหลวงมากที่สุดในไทย ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ จัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมเดี่ยว ครั้งที่ 3 ภายใต้ชื่อ “เส้นทางชีวิตจากบ้านนอก สู่บางกอกแห่งความหลัง” กับ 70 ภาพผลงานจิตรกรรมแนวเหมือนจริง ที่สะท้อนเส้นทางชีวิตของ อ.ชูศักดิ์ จากเด็กบ้านนอก สู่มหานครกรุงเทพฯ หรือที่เรียกในสมัยก่อนว่า “บางกอก” ในยุคนั้น อ.ชูศักดิ์มีโอกาสคลุกคลีกับการเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ เขียนคัตเอาต์หน้าโรงภาพยนตร์ และวิถีชีวิตของคนบางกอกในยุคนั้น จึงเป็นที่มาและแรงบันดาลใจของผลงานชิ้นเด่น ในงานแสดงครั้งนี้บอกเล่าถึงความทรงจำที่มีต่อโรงภาพยนตร์ ซึ่งในอดีตถือเป็นความบันเทิงยอดนิยมของคนยุคก่อน

นอกจากนี้ยังมีผลงานจิตร กรรมย้อนหลัง ได้แก่ จิตรกรรมเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ จิตรกรรมที่แสดงความจริงอันยิ่งใหญ่ ของพระเจ้าอโศกมหาราช จิตรกรรมรูปอาชาไนย หรือ “ม้า” อันเป็นสัตว์มงคล สง่างามและองอาจ ผลงานทั้งสิ้นรวมกว่า 70 ชิ้นที่นำออกจัดแสดงในครั้งนี้ จึงมีความหลากหลายในเนื้อหาเรื่องราว แต่ได้ขมวดรวมไว้ซึ่งความเป็นตัวตน ของจิตรกรนาม ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ

ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ จิตรกรมากฝีมือเจ้าของนิทรรศการครั้งนี้ กล่าวถึงนิทรรศการ “เส้นทางชีวิตจากบ้านนอก สู่บางกอกแห่งความหลัง” ว่า รวบรวมผลงานที่ผ่านมา รวมถึงผลงานที่วาดขึ้นมาใหม่ 6 หัวข้อ โดยมีหัวข้อไฮไลต์ที่เป็นที่มาของชื่อนิทรรศการคือ “บางกอกแห่งความหลัง” เล่าเรื่องราวของความทรงจำ ประกอบกับศึกษาข้อมูลที่ยังหลงเหลืออยู่ ทั้งจากนิตยสารเก่า อินเตอร์เน็ต เพราะเราต้องเขียนภาพให้อิงประวัติ ศาสตร์จริง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์

“ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังยุคก่อน บางกอก หนังไทยยุคก่อน ที่ตอนนี้หายไปหมดแล้ว คนรุ่นเก่าจะได้มารำลึกอดีตของตนเอง คนรุ่นใหม่ก็อาจจะไม่เชื่อเลยก็ได้ว่าความยิ่งใหญ่ของโรงภาพยนตร์ในอดีตเหล่านี้มีอยู่จริง เราจะได้เห็นคัตเอาต์ของมิตร ชัยบัญชา ขนาดสูงถึงยอดตึก ยามนั่งรถเมล์ผ่านก็จะมองสุดลูกตา จึงเอาความประทับใจเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟัง มารำลึกอดีตร่วมกัน”

ชูศักดิ์เล่าต่อว่า “หัวข้อนี้ผมเขียนรำลึกเป็นพิเศษถึง มิตร ชัยบัญชา เพราะในอดีตพื้นที่ของหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นตึกที่คุณมิตรจะซื้อเพื่อสร้างเป็นโรงหนัง โดยเขาจะซื้อกับธนาคารกรุงเทพ และต้องหาเงินมาวาง จึงต้องแสดงหนังมากถึง 40 เรื่องภายในเดือนเดียว ตลอด 13 ปีที่เขาอยู่ในวงการ แสดงหนังมากถึง 600 เรื่อง หามรุ่งหามค่ำจนอ่อนแรง จนถึงวาระสุดท้ายที่มาเข้าฉากโหนเฮลิคอปเตอร์แล้วเกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิต เรียกได้ว่าตายในหน้าที่ กลายเป็น ?อวสานอินทรีแดง? ผมจึงเขียนเรื่องราวของเขา มิตร ชัยบัญชา เป็นตัวอย่างของการทำงานหนักในวงการหนัง และยังเป็นบทเรียนของการทำงานหักโหมจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

 

นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่วาดสะสมมาในหัวข้อพระเจ้าแผ่นดิน (ด้วยความภักดีแห่งศรัทธา) วาดพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระนเรศวรมหาราช พระเจ้าตากสินมหาราช พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในหลวงรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณกับพวกเราชาวไทยมาก โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผมวาดพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระองค์ท่านเพื่อยืนหยัดในสิ่งที่ท่านทำ เพราะในอีกหลายร้อยปีภาพเหล่านี้ก็จะยังอยู่ในแผ่นดิน

ต่อมาคือภาพชุดสังเวชนียสถานทั้ง 4 ที่อินเดีย (เพื่อบูชาสัมมาสัมพุทธเจ้า) เพื่อเอาสถานที่ที่เป็นรูปธรรมนั้นมายืนยันให้เด็กรุ่นใหม่ที่ยังมีภาพอันเลือนพร่าเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ให้รู้ถึงประวัติศาสตร์ศาสนาที่จะมายืนยันความเชื่อมั่นแห่งศรัทธาให้กับคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ยังมีหัวข้อมหาเทพพิฆเนศวร (เพื่อบูชาศิลปะ) ม้า อาชาไนย (พาหนะราชาคู่แผ่นดิน) บ้านนอก ถิ่นกำเนิด ให้รับชมอีกด้วย”

ขอเชิญนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ร่วมชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันนี้-25 พฤษภาคม 2560 (ยกเว้นวันพุธ) ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. ค่าเข้าชม 50 บาท ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน