คอลัมน์ สดจากเยาวชน

เกศศินีย์ นุชประมูล

“การทำดีนั้นทำยาก และเห็นผลช้า แต่จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจ และเพียรพยายามให้สุดกำลังในการสร้างเสริม และสะสมความดี”

พระราชดำรัสเกี่ยวกับการทำความดี ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่กลุ่มเยาวชน “ต้นกล้าความดี” นักเรียนโรงเรียนบ้านกลาง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร น้อมนำมาปฏิบัติ

โครงการ “ธนาคารความดี สร้างเด็กดีสู่ชุมชน” เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2559 จนถึงปัจจุบัน เป้าหมายหลักเพื่อพัฒนากิจกรรมธนาคารความดี ให้มีคุณค่าต่อการสร้างเด็กดีอย่างแท้จริง พร้อมทั้งพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนด้วยกิจกรรมธนาคารความดี เพื่อให้นักเรียนรักการทำความดีจนติดเป็นนิสัย และเพื่อให้บรรยากาศในโรงเรียน และครอบครัวมีความสงบสุขร่วมกัน กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนบ้านกลาง และผู้ปกครอง

นางสวนีย์ จุลรักษ์ ครูที่ปรึกษาโครงการธนาคารความดี เล่าให้ฟังถึงที่มาของโครงการ “ธนาคารความดี” ว่าต้องการให้ทุกคนเป็นคนดี จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เมื่อทุกคนเป็นคนดี ย่อมทำให้สังคมสงบ ร่มเย็นเป็นสุข แนวคิดเรื่องการทำความดีมาจากพระราชดำรัสเกี่ยวกับการทำความดีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ทางกลุ่มผู้จัดทำโครงงานตระหนักถึงความ สำคัญในการสร้างความดีจึงประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนและชุมชนใกล้เคียงรู้จักความดีงามและสิ่งที่ควรปฏิบัติ โดยมีนักเรียนเป็นผู้บริหาร งานอย่างเป็นระบบ ขณะที่ครู ผู้ปกครอง พระสงฆ์ และโต๊ะอิหม่าม ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ร่วมกันศึกษาหลักธรรมของแต่ละศาสนา ศึกษากฎระเบียบสำคัญของโรงเรียน และพัฒนากิจกรรมธนาคารความดีให้มีคุณค่าต่อการสร้างเด็กดีอย่างแท้จริง โดยจัดทำเป็นคู่มือดำเนินการธนาคารความดี เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้และเผยแพร่

ความประพฤติที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติจะถูกนำมากำหนดคะแนนที่นักเรียนจะได้รับ คือ สีเหลือง (50 คะแนน) สีชมพู (10 คะแนน) สีฟ้า (5 คะแนน) สีขาว (2 คะแนน) โดยมีครู ผู้บริหารโรงเรียน สภานักเรียน และกลุ่มเยาวชนต้นกล้าความดี เป็นผู้มีอำนาจมอบบัตรความดีแก่นักเรียนที่ทำความดี ให้นักเรียนนำบัตรความดีไปฝากธนาคารความดี สะสมความดีอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนต้องการทำความดีหลากหลายรูปแบบ เช่น การมอบเกียรติบัตร คะแนนแลกของ การพาไปทัศนศึกษา เป็นต้น

ครูสวนีย์บอกด้วยว่า หลังจากดำเนินโครงการได้สักระยะ พบว่านักเรียนได้รับการพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม นักเรียนรักการทำความดีจนติดเป็นนิสัย และส่วนใหญ่เต็มใจทำความดีถึงแม้จะไม่รับบัตรความดีก็ตาม บรรยากาศในโรงเรียนและครอบครัวมีความสงบร่มเย็นเป็นสุข นักเรียนและผู้ปกครองส่วนใหญ่พึงพอใจกิจกรรมนี้มาก ข้อเสนอแนะต้องการให้แจกบัตรความดีบ่อยๆ และอยากให้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมให้ทุกคนทำความดีมากขึ้น รวมถึงควรให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมแจกบัตรความดีในบางโอกาสด้วย

ด.ช.รัชชานนท์ วันดี ผู้จัดการธนาคารความดี บอกเล่าว่าตนมีหน้าที่ดูแลภาพรวมกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ อาทิ จัดเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ จัดทำบัตรความดี จัดทำคู่มือดำเนินงานธนาคารความดี ประชา สัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสารการดำเนินงานธนาคารความดี เป็นต้น ธนาคารความดีจะเปิดทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี มีการสร้างวิธีจูงใจเพื่อนนักเรียนให้ทำความดีเพิ่มขึ้น พบว่าสถิติการทำความดีเพิ่มขึ้น เพื่อนๆ สะสมความดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียน และบ้านมีบรรยากาศที่อบอุ่นน่าอยู่มากขึ้น

สำหรับการเปิดธนาคารความดี ดำเนินการตามขั้นตอน คือ ผู้จัดการธนาคารความดีมอบบัตรความดีให้ผู้มีอำนาจในการมอบบัตรความดีแก่นักเรียน ผู้มีอำนาจมอบบัตรความดี ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ภารโรง สภานักเรียน และเยาวชนต้นกล้าความดี พร้อมกับมอบคู่มือธนาคารความดีให้คนละ 1 เล่ม เมื่อนักเรียนทำความดี ผู้มีอำนาจจะมอบบัตรความดีให้นักเรียน โดยนักเรียนจะต้องสมัครสมาชิกเพื่อนำบัตรความดีไปฝากที่ธนาคารเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ นักเรียนที่มีบัตรความดีสามารถนำบัตรมาฝากที่ธนาคาร และบันทึกรายการฝากในสมุดคู่ฝากธนาคารความดี โดยมีเจ้าหน้าที่บัญชีควบคุมตรวจสอบหลักฐานใบฝาก-ถอน และควบคุมการเบิกจ่ายบัตรแก่ผู้มีอำนาจมอบบัตร และจะประกาศยอดสะสมคะแนนความดี 10 อันดับแรกทุกสิ้นเดือน มีรางวัล และเกียรติบัตรให้นักเรียนสุดยอดเด็กดีเดือนละ 1 ครั้ง

ทั้งหมดเป็นโครงการที่ครู นักเรียน และผู้ปกครอง มุ่งมั่นตั้งใจทำร่วมกัน เพื่อสร้างแรงใจจูงใจให้ทุกคนร่วมกันทำความดี จนปฏิบัติเป็นกิจวัตร เพียงทำความดีบรรยากาศในโรงเรียน บ้าน รวมถึงโครงสร้างใหญ่อย่าง ชุมชนก็จะน่าอยู่และอบอวลไปด้วยความสุข

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน