เชิดชูครู-ทายาท

ช่างศิลปหัตถกรรมปี63

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ศ.ศ.ป. หรือ SACICT คัดสรรบุคคลแห่งปี ภายใต้ “โครงการเชิดชูผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2563” พร้อมนำผลงานจัดแสดงภายใน “งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 11” ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา เมื่อเร็วๆ นี้

น.ส.แสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ ศ.ศ.ป. กล่าวว่า “โครงการเชิดชูผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2563” เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ ศ.ศ.ป. หรือ SACICT สานต่อโครงการเพื่อคัดสรรบุคคลที่เป็นที่สุดในการอนุรักษ์และสร้างสรรค์ผลงานแห่งปี

เพื่อเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” พิจารณาโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ที่ได้รับการเชิดชูทุกคนจะได้รับโอกาสการส่งเสริมสนับสนุนในกิจกรรมที่จัดโดย SACICT”

สตรี

แสงระวี รอง ผอ.ศ.ศ.ป.

ในปีนี้จากบุคคลที่ส่งผลงานมากว่า 300 คน คณะกรรมการพิจารณาคัดสรรเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” 6 คน “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” 14 คน และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” 9 คน

น.ส.นิธิมา ธิมากูล หนึ่งใน ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2563 ประเภทเครื่องทอ “ปักสะดึงกรึงไหม” จ.นนทบุรี บอกเล่าว่า “เรารักและสนุกกับงานศิลปะ แต่ละชิ้นงานยากง่ายไม่เหมือนกัน ต้องใช้สมาธิ ความละเอียด ความอดทน และมีเทคนิคต่างกันไป

เช่น งานปักไหม อย่างแรก ต้องอ่านลายก่อน ต้องแยกสี จะใช้สีอะไรถึงจะสื่อความละเอียดที่เราอยากได้ หรือเทคนิคการปักดิ้นที่เล็กละเอียด เราอนุรักษ์ก็คืออนุรักษ์ อนุรักษ์แม้กระทั่งวิธีการ เราเคยเห็นของโบราณแล้วรู้สึกว่าเราจะต้องทำให้ได้อย่างนั้น จึงพยายามศึกษาแล้วทำให้ได้แบบนั้น คงไว้ในรูปแบบเดิม จะใช้วิธีการเดิมพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม”

สตรี

เยาวภาค์

ด้าน น.ส.เยาวภาค์ พรมหาญ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2563 ประเภทเครื่องอื่นฯ “มาลัยข้าวตอก” จ.ยโสธร กล่าวว่า “เรียนรู้งานหัตถกรรมแขนงนี้มาตั้งแต่ยังเล็กจากการช่วยงานผู้ใหญ่ในชุมชนเล็กๆ น้อยๆ อยู่เสมอ เช่น คั่วข้าวตอก นำข้าวตอกมาร้อยใส่เส้นทีละเม็ดเตรียมไว้ให้ผู้ใหญ่ทำเป็นมาลัยข้อมือหรือมาลัยสายฝน งานบุญมาลัยข้าวตอกจัดขึ้นในวันมาฆบูชาของทุกปี ด้วยความเสียดายในผลงานจึงคิดหาช่องทางให้ตนเองสร้างสรรค์งานข้าวตอกได้โดยไม่ต้องรอวันมาฆบูชา

จึงเริ่มทำผลงานชิ้นเล็กๆ ไว้สำหรับบูชาพระที่บ้านหรือไหว้ผู้ใหญ่แทนมาลัยดอกมะลิ กระทั่งมีนักท่องเที่ยวมาพบเห็นจึงเกิดเป็นความสนใจ และเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น เราอยากอนุรักษ์มรดกทางภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษของเรามีไว้ให้ อยากให้เด็กรุ่นหลังสำนึกรักบ้านเกิด รักมรดกทางภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษมีไว้ให้ ไม่อยากให้สูญหาย”

สตรี

อังคณา

น.ส.อังคณา นักรบไพร ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2563 ประเภทเครื่องทอ “ผ้าทอขนแกะ” จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า “การทอผ้าขนแกะยังคงใช้กี่ทอแบบใช้เอวโบราณดั้งเดิม เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น การได้รับคัดเลือกถือเป็นความภาคภูมิใจของตนเองและชุมชนอย่างมาก ภูมิใจกับสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่เด็กๆ

ถ้าเราอนุรักษ์ไว้ตั้งแต่ตอนนี้ รุ่นหลานเราก็จะมีงานทำ มีรายได้ ขณะนี้มีเพียงชุมชนบ้านห้วยห้อมเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังคงทำผ้าทอขนแกะอยู่ จึงอยากอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่ตลอดไป”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน