รวมสมอง-ร่วมใจ สู้ภัย‘โควิด-19’

รวมสมอง-ร่วมใจ สู้ภัย‘โควิด-19’ – จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ที่เริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศ ไทยร่วมกับสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย มีความเป็นห่วงผล กระทบต่อชีวิตและสุขภาพ และได้เปิดแถลง ‘ฝ่าวิกฤตโควิด-19’ ที่ราชวิทยาลัย อายุรแพทย์ฯ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.

โดย ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า ด้วยความเข้มแข็งของพลังภาครัฐและพลังภาคประชาชนในเกือบตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยสามารถชะลอการระบาดของเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการสูญเสียน้อย เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่มีทรัพยากรสุขภาพสมบูรณ์กว่าเราเป็นอันมาก

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดแคลนทรัพยากรสาธารณสุขทางด้านเวชบำบัดวิกฤตได้ หากจำนวนผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วโดยปราศจากการเตรียมพร้อมทางระบบสาธารณสุขที่ดีพอ

รวมสมอง-ร่วมใจ สู้ภัย‘โควิด-19’

ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลลักษณะผู้ป่วยที่พบในประเทศไทยโดยเฉพาะรายหลังๆ จะเห็นได้ชัดเจนว่ามักเป็นผู้ที่ไปร่วมกิจกรรมที่มีคนมากๆ ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากเนื่องจากความแออัด โอกาสที่จะเกิดติดต่อกันระหว่างคนที่อยู่ใกล้ชิดได้ง่าย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

สถานการณ์ของเราขณะนี้ คือพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนที่ส่วนใหญ่ทราบที่มาของโรคชัดเจน แต่หากการระบาดมากขึ้นก็จะยากในการสอบสวนหาสาเหตุ ดังนั้น การที่จะควบคุมโรคได้ประชาชนทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ ช่วยเหลือในการควบคุมโรคด้วยการ 1.ไม่เข้าไปร่วมกิจกรรมในสถานที่ที่แออัด 2.งดหรือเลื่อนการเดินทางไปต่างประเทศ 3.ถ้าหน่วยงานสามารถจัดงานให้ทำที่บ้านได้ควรทำ

รวมสมอง-ร่วมใจ สู้ภัย‘โควิด-19’

4.การเดินทางไปในที่สาธารณะทั่วไป ไม่มีความจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย แต่ถ้าเข้าไปในที่แออัด เช่น รถโดยสารปรับอากาศที่คนแน่น อาจจำเป็นที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัย 5.ถ้าเดินทางมาจากต่างประเทศ แม้จะยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตติดโรคแต่มีผู้ป่วยจำนวนมาก หรือได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ ก็ควรที่จะแยกตัวเองอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน แยกห้องน้ำ ห้องนอน แยกรับประทานอาหาร ล้างมือบ่อยๆ (ด้วยน้ำและสบู่ หรือ alcohol hand rub ก็ได้) 6.ระหว่างกักตัวไม่ควรเดินทางออกไปนอกพื้นที่โดยไม่มีความจำเป็น

7.ถ้าไม่มีอาการใด ยังไม่ต้องไปขอรับการตรวจหาเชื้อ การตรวจขณะไม่มีอาการแล้วไม่พบเชื้ออาจทำให้เข้าใจผิดว่าไม่เป็นโรคนี้แล้วขาดความระมัดระวังแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ ในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยมาก ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคด้วย 8.ระหว่างกักตัว ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ ไอ เหนื่อยง่าย ให้ไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้อง ระหว่างเดินทาง ควรสวมหน้ากากอนามัย และทำความสะอาดมือทันทีที่ทำได้

9.สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรติดต่อกับทางโรงพยาบาลเพื่อขอรับยาที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางเข้ามารับยาเอง นอกจากท่านมีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เชื้อไวรัสโคโรนาไม่ชอบอากาศที่ร้อนและแสงแดด ถ้าเราสามารถยันมันไว้ได้ตลอดหน้าร้อน เมื่อเข้าฤดูฝนโอกาสที่โรคระบาดหนักจะลดลง ประชาชนต้องปรับกิจวัตรประจำวันให้ใช้บ้านและที่พักเป็นตำแหน่งอยู่หลัก ลดการออกนอกที่พัก ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเรียน การสังสรรค์ รวมถึงรักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารถูกสุขลักษณะ

รวมสมอง-ร่วมใจ สู้ภัย‘โควิด-19’

ถ้าไม่สบายโดยเฉพาะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ ไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีน้ำมูก ให้โทรศัพท์ปรึกษาโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อพิจารณาไปตรวจรักษา และเมื่อถึงโรงพยาบาลให้ข้อมูลโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโควิดของท่านโดยละเอียด

ควรสอดส่องดูแลสมาชิกครอบครัวหรือสมาชิกร่วมที่พักที่มีปัจจัยเสี่ยงติดโรคโควิดแล้วอาการรุนแรงง่าย ได้แก่ โรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ผู้สูงอายุ คนที่อ้วนมาก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ หากเจ็บป่วยโดยเฉพาะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ให้รีบปรึกษาแพทย์

ถ้าจำเป็นต้องออกนอกที่พักไปในที่สาธารณะ จัดเตรียมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าสวมใส่และถอดทิ้งให้ถูกวิธี หลีกเลี่ยงการสัมผัสวัตถุและวัสดุทุกชนิด ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือสบู่ทุกครั้ง และไม่สัมผัสถูกต้องตัวผู้อื่น ถ้าเป็นได้พยายามให้อยู่ห่างกันแต่ละคนราว 1 เมตร ไม่ใช้สิ่งของทุกชนิดร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและมีระบบระบายอากาศที่ไม่ดี พร้อมกับติดตามข่าวสารจากแหล่งต่างๆ อย่างมีสติ ไม่ส่งต่อข้อมูลที่ไม่มีแหล่งยืนยันชัดเจน ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด

รวมสมอง-ร่วมใจ สู้ภัย‘โควิด-19’

นอกจากนี้ ควรใส่ใจดูแลผู้คนใกล้ตัวหรือเพื่อนบ้านที่มีประวัติเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงหรือติดเชื้อโควิดแล้วอาการไม่รุนแรง แพทย์อนุญาตให้มาสังเกตอาการต่อที่บ้าน โดยช่วยเหลือเกื้อกูลเท่าที่ทำได้และหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติที่ทำให้สังคมรังเกียจ เราจะต้องนำพาสมาชิกในชาติทุกคนให้ผ่านจุดวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกันให้มากที่สุด

รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมจิตอาสาที่ทำได้ในที่พัก เช่น การจัดหาและจัดทำหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากแจกจ่ายให้ประชาชนที่ขาดแคลน สนับสนุนกิจกรรมการจัดเตรียมทรัพยากรสุขภาพของโรงพยาบาล และผู้ที่แข็งแรงดีต้องช่วยกันไปบริจาคเลือดให้โรงพยาบาลมีใช้เพียงพอ และดูแลสุขภาพตัวเองและคนรอบข้างให้ดี

รวมสมอง-ร่วมใจ สู้ภัย‘โควิด-19’

หากมีโรคเรื้อรังแต่อาการคงที่ดีให้ติดต่อโรงพยาบาลเพื่อขอรับยาและเลื่อนนัดโดยตัวผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาล หากเจ็บป่วยเฉียบพลันเล็กน้อยให้รักษาตัวตามคำแนะนำสุขภาพที่หาได้ในสื่อต่างๆ หรือโทร.ปรึกษาโรงพยาบาลใกล้บ้านก่อน การไปใช้บริการที่โรงพยาบาลในช่วงนี้ นอกจากเพิ่มความเสี่ยงการรับเชื้อของตัวท่านแล้ว จะทำให้ระบบการรับมือเชื้อโควิดของโรงพยาบาลทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

ผศ.นพ.สหดล ปุญญถาวร นายกสมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของบุคลากรสาธารณสุขสหสาขาวิชาชีพที่ให้การบริบาลผู้ป่วยวิกฤตทั้งในและนอกหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤต กล่าวว่า มาตรการป้องกันไม่ให้ประชาชนทุกคนเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคและการจำกัดการกระจายของโรคถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด และเป็นสิ่งที่ต้องรีบทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างรวดเร็ว มากกว่าการรอใช้เป็นแนวทางให้ประชาชนเกิดโรคที่รุนแรงแล้วค่อยรักษาอย่างมาก จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนให้ความสำคัญสูงสุดกับการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามสุขลักษณะอย่างเคร่งครัดเพื่อลดหรือแม้กระทั่งยับยั้งการแพร่กระจายโรค

รวมสมอง-ร่วมใจ สู้ภัย‘โควิด-19’

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือร่วมใจของภาคประชาชน ความทุ่มเทในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรสาธารณสุขทุกคน และการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ จะนำพาให้ประชาชนชาวไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ด้วยกันทุกคน

ข้อปฏิบัติอื่นๆ อาจจะหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค www.ddc.go.th หรือสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย www.idthai.org

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน