กาลครั้งหนึ่ง ณ หนองคาย

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

กาลครั้งหนึ่ง ณ หนองคาย – สองเท้าก้าวเดิน สองมือถือกระดาษและดินสอ สองหูตั้งใจฟัง สองตาตั้งใจสังเกต เด็กหญิงเด็กชายวัยกำลังซนจากโรงเรียนอนุบาลอรุณรังษี จ.หนองคาย กระเตงกันมาเรียนรู้เรื่องราวพญานาคที่วัดท่าสายทอง วัดใกล้บ้านติดริมแม่น้ำโขง

“เด็กๆ สงสัยไหมว่าทำไมรูปปั้นพญานาคอยู่ที่โบสถ์เยอะขนาดนี้”

กาลครั้งหนึ่ง ณ หนองคาย

พญานาคประจำวัด

ครูปรีดา ปัญญาจันทร์ นักแต่งนิทานและนักเล่านิทานระดับประเทศ เอ่ยคำถามชวนเด็กๆ ช่างสงสัยให้ฉุกคิดและหาคำตอบ เด็กๆ พยายามตอบตามจินตนาการของตัวเอง แต่ละคนตีความแตกต่างกันไป ครูปรีดาจึงเฉลยให้เด็กฟังว่าทุกวัดที่เด็กๆ เคยไปทำบุญจะมีพญานาคเต็มไปหมด นั่นเพราะในโบสถ์มีพระพุทธรูปซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า พญานาคศรัทธาพระพุทธเจ้ามากจึงมาเฝ้าอารักขาคุ้มครองโบสถ์และบริเวณวัด

กาลครั้งหนึ่ง ณ หนองคาย

ครูปรีดา ปัญญาจันทร์

เมื่อเด็กๆ สังเกตรูปปั้นพญานาครอบวัดจนขาเริ่มล้า เหงื่อเริ่มโรย ก็ได้เวลาหาทำเลนั่งพักและละเลงจินตนาการ วาดรูปพญานาค ครูปรีดา ชวน ครูเจริญพงศ์ ชูเลิศ หรือ ครูยอด ศิลปินด้านการแสดงหุ่นเงาจากใบไม้ มาช่วยเป็นครูสอนศิลปะด้วย แต่เด็กๆ ไม่ยอมหยุดจินตนาการของตัวเองไว้แค่บนผืนเสื่อ บางคนพอเรียนการวาดเสร็จจนเข้าใจก็พลันสมมติตัวเองเป็นจิตรกรแล้วรีบวิ่งไปหามุมโปรดใกล้รูปปั้นพญานาคเพื่อวาดรูปมาอวดเพื่อนๆ วาดรูปพญานาคไม่ยาก หากมีความพยายาม เด็กๆ จ้องรูปปั้นพญานาคแทบไม่กะพริบตา จดจำรายละเอียด แล้วลงมือค่อยๆ ลากเส้น วาดรูปร่าง ลงลวดลาย และระบายสีตกแต่งตามจินตนาการ

กาลครั้งหนึ่ง ณ หนองคาย

น้องฝ้ายตั้งใจวาดมาก

เด็กหญิงนิภาพร พรมวาศ น้องฝ้าย นักเรียนชั้น ป.3 ว่าที่จิตรกรหญิง เลือกบันไดหน้าโบสถ์เป็นมุมโปรดในการวาดรูป

“โบราณเขาเชื่อว่าพญานาคมีจริงและอยู่ในแม่น้ำโขง คนหนองคายก็มีเรื่องเกี่ยวกับพญานาคเยอะค่ะ เราบูชาพญานาคเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งคุ้มครองพระพุทธเจ้า บางคนก็เอาแป้งมาถูๆ ขอหวยค่ะ

เด็กหญิงผมสั้นหัวเราะแก้มป่องแล้วโชว์ผลงานของตัวเองอย่างภูมิใจ

กาลครั้งหนึ่ง ณ หนองคาย

ครูยอด เจริญพงศ์ ชูเลิศ

คุณครูทั้งสองอยากให้เด็กๆ ใช้จินตนาการของตัวเองให้เต็มที่จึงชวนเด็กๆ แต่งนิทานเกี่ยวกับพญานาค เด็กบางคนนั่งวาดรูปจนคอเอียงแล้วทำหน้าสงสัยเอียงคอเพราะอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับพญานาคมากขึ้น ครูปรีดายิ้มรับแล้วเล่าเรื่องราวให้ฟัง

กาลครั้งหนึ่ง ณ หนองคาย

ตั้งใจกันสุดๆ

“พญานาคศรัทธาในพระพุทธเจ้ามาก ศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ก็แปลงกายเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็นึกว่าเป็นคนธรรมดาก็บวชให้ เมื่อพญานาคเจอน้ำก็เลยลงไปเล่นกับเพื่อนๆ พระทั้งหลาย แล้วร่างกายก็กลับไปเป็นพญานาคเหมือนเดิม เพื่อนพระทั้งหลายเห็นก็ไปบอกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยบอกว่าเป็นสัตว์เดรัจฉานบวชไม่ได้ แต่เพื่อเป็นเกียรติเพราะฉะนั้นก่อนพิธีบวชพระก็จะต้องมีพิธีบวชนาคก่อน”

กาลครั้งหนึ่ง ณ หนองคาย

พญานาคหลากสี

เด็กๆ แบ่งกลุ่มชายหญิงแล้วเริ่มแต่งนิทานด้วยตัวเอง เด็กชายเลือกเล่าเรื่องด้วยการวาดภาพและแสดงละครสั้น ทั้งกลุ่มเป็นเด็กชายแต่เขียนบทให้มีเจ้าหญิงด้วย กว่าจะเลือกตัวละครได้ก็เล่นเอาขำจนเหงือกแห้ง ส่วนเด็กหญิงชอบการประดิดประดอยจึงขอทำเป็นนิทานใบไม้ สนุกสนานกับการเลือกใบไม้รูปร่างต่างๆ นำมาตัดแปะบนกระดาษเป็นรูปร่างต่างๆ และแอบหัวเราะส่งกำลังใจให้กลุ่มเพื่อนผู้ชายด้วย

กาลครั้งหนึ่ง ณ หนองคาย

พญานาคประจำวัด

เด็กๆ มีความสุขและสนุกสนานกับการเรียนรู้เรื่องราวใกล้ตัว เรื่องราวพญานาคที่พ่อแม่เคยเล่าให้ฟังตั้งแต่จำความได้ คุ้นเคย และคลุกคลีกับวิถีชีวิตริมโขง นำมาเรียนรู้อีกครั้งด้วยวิธีใหม่ ผ่านการวาดรูปและแต่งนิทานตามจินตนาการของตัวเอง เด็กๆ ยังนำการเรียนรู้นี้บอกเล่าสู่เพื่อนๆ ในโรงเรียนได้ชื่นชมอีกด้วย

กาลครั้งหนึ่ง ณ หนองคาย

น้ำโขง หนองคาย

พบเรื่องราวการเรียนรู้เรื่องใกล้ตัว และฟังนิทานพญานาคจากจินตนาการของเด็กๆ ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน นิทานพญานาค วันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2563 เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33 ติดตามข่าวสารทางแฟนเพจทุ่งแสงตะวัน

โดย ณัฐริยา โสสีทา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน