สื่อในวิกฤตโควิด-เศรษฐกิจและโลกที่เปลี่ยนไป

สื่อในวิกฤตโควิด-เศรษฐกิจและโลกที่เปลี่ยนไป – ทั้งผู้รู้และผู้ไม่รู้ทั้งหลาย มีความเห็นสอดคล้องต้องกันประการหนึ่งว่า

หลังจากวิกฤตการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด-19 ผ่านไป

โลกจะไม่เหมือนเดิม

แล้วอะไรที่จะไม่เหมือนเดิม

ชัดเจนเป็นรูปธรรมและถูกพูดถึงกันมากที่สุดก็คือ

ชีวิตที่จะเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น

อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

จากการขังตัวเองอยู่กับบ้านเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส (social distancing) และการทำงานจากบ้าน

นี่เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั้งโลก

รวมทั้งประเทศไทย

ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือทั่วโลก ต้องขยายบรอดแบนด์และจำนวนข้อมูลการใช้ให้กับลูกค้า

ตามปริมาณการใช้และความต้องการที่สูงขึ้น

ในสหรัฐอเมริกา

เพียงชั่วสัปดาห์แรกของการกักตัวเองอยู่ในที่อยู่อาศัย

ยอดการสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ของ 3 เจ้าใหญ่ที่ให้บริการ (มีวอลมาร์ท เจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่และมากที่สุดในสหรัฐรวมอยู่ด้วย)

เพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวไปทุกเจ้า

และที่น่าสนใจก็คือกว่าครึ่งของจำนวนผู้หันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์

คือกลุ่มที่มีอายุเกิน 50-60 ปีขึ้นไป

ตัวเลขนี้บ่งชี้ว่า เมื่อถึงเวลาจำเป็น-คับขัน “อายุ” ที่เคยเป็นข้อจำกัดของธุรกิจหรือวิทยาการ

ก็ไม่ใช่ข้อจำกัดอีกต่อไป

วันข้างหน้า อินเตอร์เน็ตและโลกออนไลน์ซึ่งเป็นพื้นที่ของ “วัยรุ่น”

ก็อาจไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป

ในเมืองไทย

เพียงแค่เดือนแรกของการระบาดของไวรัส

กสทช. แถลงว่า ปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตและแอพพลิเคชั่นโซเชี่ยลทั้งหลาย

เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ขณะที่ในเดือนมกราคม 2563 ยอดการใช้งานเฟซบุ๊กอยู่ที่ 352.05 เมกะไบต์/คน/วัน

ทวิตเตอร์ 21.47 เมกะไบต์/คน/วัน

ไลน์ 23.95 เมกะไบต์/คน/วัน

ยูทูบ 401.28 เมกะไบต์/คน/วัน

พอถึงเดือนกุมภาพันธ์

ยอดการใช้เฟซบุ๊กเพิ่มเป็น 682.29 เมกะไบต์/คน/วัน หรือ 93.80%

ทวิตเตอร์ 78.68 เมกะไบต์/คน/วัน เพิ่ม 266.43%

ไลน์ 60.90 เมกะไบต์/คน/วัน เพิ่ม 154.26%

ยูทูบ 731.11 เมกะไบต์/คน/วัน เพิ่ม 82.19%

ขณะที่ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยผ่านออนไลน์ก็ขยับขึ้นด้วย

โดยภาพรวมในเดือนกุมภาพันธ์ มีการใช้งานเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมร้อยละ 478.59

แยกยี่ห้อออกมา

ลาซาด้าในเดือนมกราคมอยู่ที่ 3.78 เมกะไบต์/คน/วัน

กุมภาพันธ์อยู่ที่ 8.37 เมกะไบต์/คน/วัน

เพิ่มขึ้นร้อยละ 121.529

Shopee มกราคมอยู่ที่ 7.17 เมกะไบต์/คน/วัน

กุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นเป็น 41.48 เมกะไบต์/คน/วัน

จะลองพยายามติดตามตัวเลขจากบริษัทมาทีหลัง

ว่าลูกค้าที่เพิ่มขึ้นนั้นกลุ่มไหน ครอบคลุมทุกช่วงอายุหรือยัง

แต่ปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตที่มากขึ้น

จนผู้ให้บริการต้อง “ขยายถนน” เพิ่ม

เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัด

และ กสทช. ไปจัดหาอินเตอร์เน็ตฟรีเพิ่มให้ผู้ใช้บริการ

ยืนยันความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ชัดเจน

นี่แค่สถิติที่ผ่านมาเฉพาะกุมภาพันธ์เท่านั้น

ถ้ายังต้องอยู่บ้าน ยังทำงานทางไกลต่อไปอีกหลายเดือน

พฤติกรรมในชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรอีก

ยังต้องติดตามกันต่อ

แต่ที่แน่ๆ วันนี้ ไทยครองสถิติคนอยู่หน้าจอและใช้อินเตอร์เน็ตสูงที่สุดในโลกไปเรียบร้อยแล้ว

ด้วยจำนวน 9 ช.ม. 38 นาที/วัน

นำหน้าอันดับสองและสามอย่างอินเดีย (7 ชั่วโมงกว่าๆ)

และสหรัฐ (6 ชั่วโมง)

ไปไกล

ข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งก็คือในช่วงตั้งแต่การเริ่มระบาดของโรค จนถึงการเริ่มกักตัว

และความเดือดร้อนเรื่องปากท้องเริ่มปรากฏชัด

ปริมาณการบริโภค “สื่อออนไลน์” ก็เพิ่มขึ้นมามหาศาลเหมือนกับการใช้อินเตอร์เน็ตอื่นๆ

ปัจจุบัน ใน 10 อันดับแรกของเว็บไซต์ยอดนิยมในเมืองไทย

เป็นเว็บข่าวเสีย 7-8 อันดับ

และที่น่าชื่นใจ (สำหรับพวกเราในเครือข่าวสด-มติชน-ประชาชาติธุรกิจ) ก็คือ

เว็บไซต์ของทั้งสามหนังสือพิมพ์ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกนี้มาร่วมเดือนแล้ว

ด้วยฐานคนอ่านที่เพิ่มขึ้นด้วย

นี่บอกอะไร

นอกจากบอกว่า พฤติกรรมการบริโภคข่าวของคนเปลี่ยนไป (หลังจากที่มีแนวโน้มชัดเจนมาแล้วหลายปี) เหมือนกับพฤติกรรมการครองชีวิตอื่นๆ แล้ว

ยังบอกว่า ในเวลาวิกฤต คนทั่วไปจะพยายามเสาะแสวงหาข่าวที่เชื่อถือ ไว้วางใจได้

ไม่ได้อวดอ้างว่าดีเด่นกว่าใคร หรือทำอะไรดีไปหมดหรอกนะครับ

แต่ดีใจที่ความพยายาม ความทุ่มเท ความอยู่ในร่องในรอยของเพื่อนร่วมงานทุกท่านผลิดอกออกผล

เมื่อเวลาของความเปลี่ยนแปลงมาถึง

ในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 ซ้อนทับกับวิกฤตเศรษฐกิจ

สื่อก็เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ธุรกิจ

คือถูกคลื่นของวิกฤตกระแทกเอาจนซวนเซ

ที่ต้องโยนผ้าขอลงจากเวทีไปก่อนก็มี

ที่ยังอยู่แบบ “กลืนเลือด” โดยหวังว่าวันหนึ่งเมื่อพายุผ่านไป จะสามารถกลับลุกขึ้นมายืนใหม่ก็มาก

แต่ในขณะที่ต้องพยายามประคับประคองเอาตัวรอดในทางธุรกิจให้ได้

หน้าที่และงานประจำก็ต้องทำไปทุกวันทุกนาที

ให้บกพร่องน้อยที่สุด

หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้น คือต้องพัฒนาให้ก้าวเคียงคู่ไปด้วยกันกับรสนิยม ความต้องการ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้อ่านผู้ชม

ยิ่งในช่วงเวลาของวิกฤต ความคาดหวังต่อสังคมที่มีต่อสื่อ ว่าจะสามารถไขข้อข้องใจ ข้อสงสัย และความกังวล ก็มากขึ้นตามธรรมชาติ

โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ที่ความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต

การพัฒนาทั้งเนื้อหา เทคนิค รวมไปถึงการทำความรู้จัก ผู้ชมผู้อ่านผ่านฐานข้อมูลจำนวนมหาศาล

เป็นความท้าทายทั้งของวิชาชีพและธุรกิจ

ไม่ว่าโควิดจะยังอยู่ จะผ่านไป

วิกฤตเศรษฐกิจจะลากยาวขนาดไหน

ธุรกิจก็ต้องเอาให้รอด

หลักการและหน้าที่ก็ต้องรักษา

หวังว่าทั้งท่านผู้อ่านผู้ชมและเรา จะสามารถฟันฝ่าผ่านวิกฤตซ้อนวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

ด้วยความบอบช้ำน้อยที่สุด

เพื่อจะหลุดจากวิกฤตหนึ่ง โดยไม่ตกลงไปในอีกวิกฤตที่ อ้าแขนรออยู่

ด้วยความปรารถนาดีและความเชื่อเช่นนั้นอย่างจริงใจ

ฐากูร บุนปาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน