วัคซีน : รู้ไปโม้ด โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

วัคซีน – อยากทราบความเป็นมาของวัคซีน ใครคิดค้น และครั้งแรกเริ่มใช้

อัฐมา

ตอบ อัฐมา

เกี่ยวกับวัคซีน ต้องบันทึกนาม เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) ไว้คู่กัน เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ชาวอังกฤษ (เป็นนักปักษีวิทยาด้วย) ผู้ซึ่งศึกษาธรรมชาติและสภาพแวดล้อมตามประสาเด็กที่เติบโตในชนบท ก่อนได้รับการฝึกหัดทางการแพทย์ที่มณฑลกลอสเตอร์เชอร์เมื่ออายุ 13 ปี และศึกษาต่อกับศัลยแพทย์จอห์น ฮันเตอร์ และแพทย์คนอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จแห่งลอนดอน

นี่คือแพทย์คนแรกที่ศึกษาและที่สุดค้นพบวัคซีน โดยแรกเริ่มใช้ป้องกันโรคไข้ทรพิษ

วัคซีน (vaccine) เป็นชีววัตถุที่เตรียมขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์หรือส่วนของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งจะมีกลไกชักนำ ให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อจุลินทรีย์ชนิดนั้นๆ กล่าวคือมีฤทธิ์ชักนำการสร้างภูมิคุ้มกันอันจำเพาะกับโรค วัคซีนโดยทั่วไปจะประกอบด้วยส่วนประกอบของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรค (แอนติเจน-Antigen)

วัคซีน

ซึ่งถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง, ตาย หรือการใช้ส่วนที่เป็นพิษที่อ่อนฤทธิ์ลง (ท็อกซอยด์-toxoid) โดยวัคซีนจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและสามารถจดจำได้ว่าเป็นสารก่อโรคซึ่งจะมีกลไกการทำลายต่อไป คุณสมบัติการจดจำแอนติเจนของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ร่างกายสามารถกำจัดแอนติเจนหากได้รับอีกในภายหลังได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

วัคซีนพัฒนาขึ้นในราวคริสต์ทศวรรษ 1770 เมื่อเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ประสบความสำเร็จในการสกัดเชื้อ cowpox เพื่อป้องกันโรคฝีดาษ (small pox) ในมนุษย์ โดยคำว่า vaccine มาจากศัพท์ vaccin-us หรือ vacca แปลว่า cow หรือวัว ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเชื้อ cowpox

ย้อนไปก่อนหน้า เจนเนอร์ได้ทราบเรื่องของสตรีผู้เลี้ยงวัวที่ไม่เคยป่วยโดยโรคฝีดาษเลย แต่ต่อมาเธอป่วยด้วยโรค cowpox ที่ติดเชื้อมาจากวัวที่เลี้ยงอยู่ เป็นโรคที่อาการไม่รุนแรงนักในมนุษย์ ในปีค.ศ.1796 เจนเนอร์สกัดนำเชื้อ cowpox จากสตรีผู้นั้นแล้วให้แก่เด็กชายวัย 8 ขวบ และ 6 สัปดาห์ต่อมาเขาได้ให้เชื้อฝีดาษแก่เด็กชาย พบว่าเด็กชายไม่ป่วยหรือมีอาการสำแดงถึงโรคฝีดาษ และต่อมาได้มีการทดลองเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพวิธีการนี้ในทารก

อย่างไรก็ตาม หลังจากเจนเนอร์เสียชีวิตไปแล้ว มีผู้นำความคิดนี้ไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วอังกฤษ นำไปสู่คำสั่งห้ามในปี ค.ศ.1840 กระทั่ง หลุยส์ ปาสเตอร์ นักเคมีและนักจุลชีววิทยา ชาวฝรั่งเศส นำแนวความคิดของเจนเนอร์ไปประยุกต์กับวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคจากสัตว์ปีกจำพวกเป็ด-ไก่ โดยเขาแยกเชื้อและนำมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ทำให้เชื้ออ่อนฤทธิ์ลง และฉีดเข้ากับเด็ก ผลปรากฏว่าเด็กมีแนวโน้มต้านทาน ต่อเชื้ออหิวาตกโรค และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการผลิตวัคซีนในระยะหลัง

คริสต์ศตวรรษที่ 19 วัคซีนได้รับการผลักดันจนมีความสำคัญระดับชาติ มีกฎหมายวัคซีนบังคับขึ้นใช้ในหลายประเทศ และมีการแจกจ่ายวัคซีนต่างๆ ไปทั่วโลก อาทิ วัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ โรคโปลิโอ โรคไอกรน เป็นต้น และในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการพัฒนาวัคซีนและประสบความสำเร็จมากมาย อาทิ โรคคอตีบ โรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน จวบจนมาถึงยุคปัจจุบันที่ยังมีการคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน