มัสยิดกรือเซะ

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

ทุกวันนี้มัสยิดกรือเซะยังเปิดอยู่ไหมคะ ตั้งใจจะยกครอบครัวไปเที่ยวภาคใต้ช่วงสงกรานต์ แต่ไปไม่ได้

มณี นพรัตน์

ตอบ มณี

นำคำถามนี้มาตอบในวันอันเมื่อปี พ.ศ.2547 เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นที่มัสยิดกรือเซะ

มัสยิดกรือเซะ หรือ มัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ริมถนนสายปัตตานี-นราธิวาส ห่างจากตัวเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร

เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 15.10 เมตร ยาว 29.60 เมตร สูง 6.50 เมตร เสาทรงกลม สถาปัตยกรรมประตูหน้าต่างรูปทรงโค้งแหลมและโค้งมน ผสมผสานศิลปะกอทิกของยุโรปกับศิลปะตะวันออกกลาง

เป็นที่มาของอีกชื่อเรียกว่า มัสยิดปิตูกรือบัน คำว่า ปิตู แปลว่า ประตู, กรือบัน แปลว่า ช่องรูปโค้ง หลังคาทรงโดม อิฐที่ใช้ก่อลักษณะเป็นอิฐสมัยอยุธยา

จากรูปแบบอิฐและลักษณะสถาปัตยกรรม มัสยิดกรือเซะมีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียง กระแสหนึ่ง (นอกจากตำนานที่เล่ากันมา) อ้างอิงหนังสือ สยาเราะห์ปัตตานี เขียนโดย หะยีหวันหะซัน กล่าวว่า สุลต่านลองยุนุสเป็นผู้สร้างมัสยิดแห่งนี้ประมาณปีฮิจเราะฆ์ 1142 ตรงกับพุทธศักราช 2265 สมัยอยุธยาตอนปลาย

และว่าเหตุที่ก่อสร้างไม่สำเร็จเนื่องจากเกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติระหว่างสุลต่านลองยุนุสกับระตูปะกาลันซึ่งเป็นพระอนุชา หลังจากสุลต่านลองยุนุสสิ้นพระชนม์

ระตูปูยุดรับตำแหน่งสุลต่านเมืองปัตตานีคนต่อมา ได้ย้ายศูนย์การปกครองไปตั้งอยู่ ณ บ้านปูยุด ไม่มีใครคิดสร้างมัสยิดกรือเซะต่อ จวบจนถึงสมัยที่รายาบีรู (พ.ศ.2159-2167) ได้รับมอบหมายให้ควบคุมการก่อสร้าง แต่สร้างถึงยอดโดมคราวใดก็พังทลายลงมาทุกครั้ง ด้วยสมัยนั้นช่างยังขาดความรู้ในการก่อสร้างหลังคารูปโดม มัสยิดจึงอยู่ในสภาพค้างคาและทิ้งร้าง

มัสยิดกรือเซะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2478 จากการสำรวจพบว่าโครงสร้างโดมไม่แข็งแรง ขาดความสมดุล จึงทำให้พังทลาย กรมศิลปากรระบุด้วยว่า หลังราชวงศ์กลันตันปกครองปัตตานีถัดจากราชวงศ์ศรีวังสา ได้ย้ายศูนย์กลางเมืองไปยังบานาและจะบังติกอตามลำดับ มัสยิดกรือเซะจึงถูกทิ้งให้โรยรา

สำหรับเหตุการณ์ที่เรียกว่า เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2547 ครั้งนั้นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกระจายกันเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารรวม 12 จุดในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการปะทะกันในหลายจุด

ผู้ก่อเหตุเสียชีวิตรวม 108 ราย 34 รายถูกเจ้าหน้าที่สังหารในมัสยิดกรือเซะ มัสยิดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน