คอลัมน์ เป็นแม่ไม่ง่าย

ตอน ทุกเส้นทางเรามีกันและกัน

โดย…ขึ้นหนึ่งค่ำ

ทุกเส้นทางเรามีกันและกัน – “เราต้องเดินทางจากตาก มากทม. เดือนละสองครั้ง โดยสารรถทัวร์ ไปกันสองคนแม่ลูก”

หลังจากแต่งงานแล้ว เราก็วางแผนที่จะมีลูกเลย ก่อนรู้ว่าจะท้อง เคยท้องลมครั้งหนึ่ง เลยขูดมดลูก ให้พักท้องสามเดือน แต่เราอยากมีเลยพักท้องเดือนเดียว คิดว่าเพราะมดลูกสะอาดก็เลยท้องง่ายขึ้น ตั้งท้องตอนอายุ 32

ระหว่างท้องแพ้ท้องไม่มาก แต่ทำงานหนักมาก ออกภาคสนามเยอะ ขับรถ พบปะผู้คน (งานส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สามีหน่วยงานเดียวกันแต่ต้องเข้าป่าสำรวจป่าและดูแลป้องกันรักษาป่า) ราบรื่นมาก ไม่มีอาการปวดท้องหรือเจ็บเตือนเลย จนถึงสิบเดือน ยังไม่ปวดท้อง คุณหมอเลยแนะนำให้ผ่าคลอดเลยเพราะนานกว่านี้อาจอันตราย

หลังคลอดไม่มีอะไรผิดปกติ เพียงแต่ไม่ค่อยร้อง ไม่ค่อยงอแง เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยอ้อแอ้ ช่วงแรกๆ พัฒนาการดีมาก ทุกอย่างตามเกณฑ์ ตั้งคอ พลิกคว่ำ นั่งเร็วมาก นั่งแบบมีคนประคองได้ราวอายุ 3 เดือน เดินได้ราวขวบหนึ่งเดือน ตอนนั้นเวลาเราไปทำงานก็พาลูกไปเลี้ยงที่ทำงานด้วย ไปเข้าป่า ไปบนดอยก็พาลูกไปด้วยตลอด ทำอะไรก็ทำด้วยกัน น้องเริ่มพูดพยางค์เดียว แต่จับใจความไม่ได้ คนที่ฟังน้องรู้เรื่องได้มีแค่แม่คนเดียว

เนื่องจากพื้นที่ที่แม่ทำงาน มีชาวชนเผ่าเยอะ ลูกเลยได้ยินคนพูดหลายภาษา เราเลยคิดว่าตรงนี้อาจจะมีส่วนให้ลูกสับสนก็ได้ ซน ป่ายปีน อยู่นิ่งไม่ได้ เล่นอะไรได้แป๊บเดียวก็เปลี่ยนไปเล่นอย่างใหม่ และยังไม่ค่อยพยายามพูดเป็นวลีหรือประโยคชัดเจน ชอบเล่นน้ำ อยู่เองได้นาน ชอบนั่งรถไม่ว่าจะเป็นรถอะไร ลูกจะชอบมองออกไปนอกหน้าต่าง ดูวิวได้นานๆ ไม่มาวุ่นวายกับใคร


จนช่วงสองขวบลงมาอยู่กับยายที่โรงเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตอนนี้เราและครูเริ่มสังเกตว่าลูกชอบอยู่คนเดียว เข้ากับเพื่อนยาก ไม่เล่นกับใคร ไม่สนใจครู ไม่สบตา เวลาครูดุมาหรือเลิกโรงเรียนก็จะหนีมาหาแม่ กอดแม่เกาะแม่ไม่หนีไปไหน ไม่อยากยุ่งกับใคร ห่างตัวไม่ได้เลยแม่แต่ยายที่คุ้นเคย

เริ่มเห็นปัญหาว่าลูกไม่แฮปปี้กับการไปโรงเรียน เราเลยไปปรึกษาคุณหมอที่คลินิกที่มีคุณหมอเป็นหมอเด็ก เปิดอกพูดกับคุณหมอว่าลูกเรามีปัญหา คุณหมอแนะนำว่า ให้เราไปตรวจที่โรงพยาบาล ที่แผนกจิตเวชก่อน ว่าเข้าข่ายผิดปกติแบบไหน และควรปรับรักษายังไง เราก็พาไป ทำแบบคัดกรองพัฒนาการเด็ก เราก็กรอก แต่ลูกกลัวทุกคน ไม่ยอมเข้าใกล้ ไม่ยอมทำ คุณหมอคาดว่าลูกอาจจะสมาธิสั้น และส่งให้ครูพัฒนาการดู เพื่อรับเคส แต่ตอนนั้นยังไม่ได้คิวฝึก พัฒนาการ


ระหว่างนั้นเรากลับมาหาหมอ หมอเลยบอกว่า ให้กินยาลดอาการสมาธิสั้น หลังจากรับยาแล้วลูกดูไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ประกอบกับครูไม่ใส่ใจ ก็เลยให้เลิกไปโรงเรียน มาอยู่บ้านดีกว่า หลังจากนั้นพอได้คิวฝึกพัฒนาการ กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ กำ ขยำ ปั้น กระโดด วิ่ง ร้อยลูกปัด ทรงตัว ฝึกสมาธิ ทีแรกไม่ยอมฝึก มีโวยวายแต่หลังๆก็ดีขึ้น ยอมฝึก และเห็นความแตกต่างมากขึ้น ครูที่ฝึกแนะนำโรงเรียนอีกที่ให้ ที่น่าจะเหมาะกับลูกมากกว่าเลยลองไปยื่นใบสมัครเข้าเทอมสอง โรงเรียนใหม่ก็รับ ครูที่นี่ใส่ใจมาก ลูกเลิกนมขวด เลิกผ้าอ้อม ทำกิจกรรมอื่นๆร่วมกับเพื่อนได้ กลายเป็นเด็กที่อยากไปโรงเรียนมาก เพราะครูเข้าใจและพยายามพูดให้เพื่อนๆเข้าใจด้วย ถึงแม้ลูกจะยังไม่พูดแต่ตอนนั้นเราก็สบายใจขึ้นและวางใจไปพักใหญ่

มาเอะใจอีกทีตอนที่ลูกใกล้สี่ขวบว่าทำไมลูกยังไม่พูด เลยสงสัยว่าลูกได้ยินไหม เลยปรึกษากับคุณหมอประจำ คุณหมอเลยแนะนำมาว่า อยากให้ลองส่งตัวมาที่ รพ.รามา ซึ่งมีหมอที่เฉพาะทางที่เหมาะกับลูกมากกว่า ตรวจอย่างละเอียดกว่าด้วย


พอมาที่ รพ.รามา รพ.ประเมินใหม่ทั้งหมด โดยให้ไปคลินิกเด็กก่อน สรุปว่าลูกมีอาการออทิสซึม จากนั้นส่งไปให้หมอพัฒนาการตรวจโดยต้องรอคิวเก้าเดือน ในระหว่างนี้ก็ส่งไปตรวจหู ปรากฏว่าลูกได้ยินปกติดี หูชั้นนอก กลาง ใน ปกติคลินิกหูจึงส่งตัวไปที่ศูนย์ฝึกพูด และได้นัดมาฝึกพูด สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เลยเฉลี่ยว่า เราต้องเดินทางจากตาก มากทม. สองสัปดาห์ครั้ง โดยสารรถทัวร์ ไป กลับ มากับลูกสองคน ออกจากตากสี่ทุ่มครึ่ง มาถึงหมอชิตราวตีสี่ครึ่งถึงตีห้า แล้วนั่งรถเมล์ ไป รพ.รามา พอลูกฝึกเสร็จก็นั่งกลับมาหมอชิต นั่งรถทัวร์เที่ยงครึ่ง กลับมาถึงตาก สองทุ่ม เป็นรถ ป.1 เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง

ที่ทำงานเขาก็เข้าใจเราและยอมให้เราลางานพาลูกไปรักษา ให้เราเอาเรื่องลูกไว้ก่อน ค่อยกลับมาเคลียร์งาน อีกอย่างเราเห็นลูกมีพัฒนาการดีขึ้น เราก็หายเหนื่อย ยังไงก็ไหว
ช่วงนี้จะแย่หน่อยเพราะเป็นช่วงที่เดินทางข้ามจังหวัดไม่ได้(ติดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินช่วงโรคระบาด) แต่ก็ดีตรงที่คุณหมอที่เป็นเจ้าของไข้ลูก คอยโทรมาหาและถามพัฒนาการและให้คำแนะนำทางโทรศัพท์ และเลื่อนนัดให้ไปรามาฯอีกที ต.ค.เลย เพราะตอนนี้มีภาวะโรคระบาด เด็กๆเสี่ยงติดเชื้อ โดยที่ระหว่างนี้เราก็คุยกับครูฝึกพัฒนาการที่ รพ.ตากไปด้วย และหาหมอเด็กไปด้วย และเอาข้อมูลไปแชร์กับหมอรพ.รามาฯ

ช่วงนี้เป็นช่วงปิดโรงเรียน อยู่บ้านก็งดยาสมาธิสั้นตามคำแนะนำของหมอพัฒนาการที่รามาแนะนำ (เนื่องจากลูกได้รับผลข้างเคียงคือเบื่ออาหารทำให้อาจขาดอาหาร แคระแกร็น) เราก็เอาลูกฝากยายเลี้ยง แต่ถ้าวันไหนยายไม่ไหวก็พาไปที่ทำงานด้วยเพื่อนที่ทำงานก็น่ารัก เข้าใจ ไม่มีใครว่าอะไร

การที่ลูกเราเป็นแบบนี้ บางทีเราก็เครียดมาก โดยเฉพาะในเรื่องอนาคตของลูก กลัวว่าวันนึง ถ้าเราไม่อยู่ลูกจะทำยังไง มีไปทำประกันชีวิตแล้วยกประโยชน์ให้ลูกทั้งหมด ถ้าเราเป็นอะไรอย่างน้อยเรามีเงินประกันให้ลูกอยู่ไปได้อีก อยากให้ลูกหายเร็วๆ เข้ากับคนอื่นได้ ใช้ชีวิตได้ตามปกติ เราจะได้ไม่ห่วง

ทุกเส้นทางเรามีกันและกัน

ทุกวันนี้เราคาดหวังแค่อยากให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ ดูแลตัวเองได้เบื้องต้น ไม่ต้องเป็นภาระใคร เรื่องอนาคตไกลๆ เราไม่ได้คาดหวังในตัวลูกว่าอยากให้เรียนเก่งหรือทำงานดีๆ แค่อ่านออกเขียนได้ก็สบายใจแล้ว ต่อไปอีกหน่อยถ้าลูกยังไม่อยากทำงานอะไรจริงๆ พ่อเขาก็มีไร่ มีสวน มีที่นา ก็สามารถสอนลูกทำกินในที่ดินของเราได้ รองรับได้ เราก็ยังคาดหวังแค่นี้ก่อน

แม่ติ่ง น้องพีช จ.ตาก


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน