คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

น้าชาติ โฉนดที่ดินของไทย กำเนิดครั้งแรกเมื่อไหร่ ใครเป็นผู้ออกให้

สมบัติ

ตอบ สมบัติ

คำตอบนำมาจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มัณฑนา ชอุ่มผล เขียนรายงานไว้ในบทความเรื่อง “โฉนดที่ดินฉบับแรกของไทย เป็นของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕” ว่า คำว่า “โฉนด” เป็นคำภาษาเขมร หมายความว่า หนังสือ เมื่อนำมารวมกันกับคำว่า ที่ดิน จึงมีความหมายว่าหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน

กล่าวถึงในกฎหมายไทยยุคเก่าคือกฎหมายตราสามดวง ในพระอายการเบ็ดเสร็จ มาตราที่ ๓๖ ว่า “ถ้าผู้ใดก่นสร้างเลิกรั้งที่ไร่นาเรือกสวนนั้น ให้ไปบอกแก่เสนานายระวาง นายอากรไปดูที่ไร่นาเรือกสวนที่ก่นสร้างนั้นให้รู้มากแลน้อยด้วย ให้เสนานายระวางอากรเขียนโฉนฎให้ไว้แก่ผู้เลิกรั้งก่นสร้างนั้น”

แสดงว่าการทำโฉนดกำหนดเขตที่ดิน การครอบครองและปักปันที่ทำกิน มีความสำคัญมาแต่สมัยโบราณแล้ว ทั้งนี้ ก็คงเพื่อการเก็บอากรของรัฐนั่นเอง

ในสมัยสุโขทัยมีการกล่าวถึงการใช้พื้นที่ของราษฎรเพื่อการเพาะปลูกเช่นกัน โดยไม่มีการระบุชัดเจนเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่เน้นย้ำในการให้ความสำคัญกับผลผลิต หลักฐานอยู่ในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า “ป่าหมาก ป่าพลู ทั่วเมืองทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลายใน เมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน”

ที่ดินในสมัยโบราณแถบประเทศไทยถือเป็นของกษัตริย์ หรือผู้ปกครองแว่นแคว้นนั้นๆ ประชากรที่ต้องการทำประโยชน์ ปลูกพืชผล สร้างบ้านเรือน ทำได้โดยบอกกล่าวแก่เจ้าเมือง เมื่อหักร้างถางพงปลูกพืชผลไปเท่าใด ก็ถือว่าพื้นที่ที่ได้ลงแรงไปนั้นเป็นของตน จ่ายภาษีอากรแก่เจ้าของแคว้นแล้วแต่จะตกลงกัน เมื่ออพยพโยกย้ายละทิ้งบ้านเรือนไม่ว่าสาเหตุใดๆ ที่ดินนั้นจะกลับเข้าไปอยู่ในกรรมสิทธิ์ของเจ้าของตามเดิม สามารถจัดสรรคนกลุ่มใหม่เข้าไปอยู่และทำกินแทนได้

ประเทศไทยเริ่มให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ราษฎรอย่างชัดเจนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ.2444 จุดเริ่มต้นการทำโฉนดที่ดินแบบใหม่ย้อนไปในยุคล่าอาณานิคมเฟื่องฟู ประเทศไทยต้องระแวดระวังการเข้ามารุกล้ำดินแดนของประเทศมหาอำนาจ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่าถ้าไม่กำหนดอาณาเขตและทำแผนที่ประเทศให้แน่นอนแล้ว คงจะถูกชาติมหาอำนาจเอาข้อด้อยนี้มาเป็นข้ออ้างรุกล้ำอาณาเขตและยึดดินแดนในที่สุด

พ.ศ.2424 รัฐบาลสยามได้จ้างนายเจมส์ เอฟ. แม็กคาร์ธี มารับราชการฝ่ายกลาโหม เพื่อทำแผนที่ในส่วนต่างๆ และต่อมาในปี 2425 พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ปรึกษากับนายแม็กคาร์ธี ก่อตั้งโรงเรียนฝึกสอนคนไทยทำแผนที่ทหาร นายแมคคาร์ธีได้รับยศเป็นร้อยเอกพระวิภาคภูวดล เจ้ากรมแผนที่ ออกสำรวจภูมิประเทศพร้อมกับคณะคนไทย

ขณะนั้นฝรั่งเศสก็ส่งคณะสำรวจออกสำรวจภูมิประเทศของไทยเช่นกัน แต่การเร่งทำแผนที่และออกสำรวจดินแดนของพระวิภาคภูวดลครั้งนี้ไม่ทันการณ์ เพราะเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.112 เสียก่อน จึงไม่สามารถกำหนดอาณาเขตประเทศได้ชัดเจน และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

การทำแผนที่พัฒนาขึ้นเป็นลำดับทั้งเทคนิคและบุคลากรที่เริ่มฝึกคนไทยออกทำแผนที่ได้บ้างแล้ว พ.ศ.2435 พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขยายงานกระทรวงต่างๆ ออกเป็น 12 กระทรวง และกระทรวงที่จำเป็นต้องใช้การแผนที่คือกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงมหาดไทยต้องการแผนที่เพื่อวางแผนการปกครองมณฑลที่จัดตั้งใหม่ในตอนนั้น

ส่วนกระทรวงเกษตราธิการโดยหน้าที่หลักเดิมต้องดูแลด้านการเก็บภาษีพืชผล และมีหน้าที่ต้องจัดการที่ดินรกร้างให้มีคนเข้าไปทำกิน ระงับการวิวาทเรื่องที่ดิน และแบ่งสันปันส่วนที่ดิน

ฉบับพรุ่งนี้ (27 มิ.ย.) พบกำเนิดโฉนดที่ดินฉบับแรกของไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน