คอลัมน์ ข่าวสดสุขภาพ

รายงานพิเศษ

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ชุมชน ต.แม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมผลงานด้านสุขภาพจิตชุมชนดีเด่น โดยชุมชน ต.แม่ปูคา เป็นชุมชนต้นแบบด้านสุขภาพจิต ที่เกิดจาก การบูรณาการดำเนินงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน

น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวว่า ในเขตสุขภาพที่ 1 ประกอบด้วย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชทั้งแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ประมาณ 3 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น ยาบ้า รองลงมาคือ โรคประสาท โรคจิตเภท ความผิดปกติทางอารมณ์ และเสพติดสุรา เป็นต้น ซึ่งในชุมชน ต.แม่ปูคา นี้มีผู้ป่วยจิตเวช 17 คน ใน 9 หมู่บ้าน จากประชากรประมาณ 5,800 คน

โดยทั้งหมดได้รับการดูแลและรับยาต่อเนื่อง ด้วยการบูรณาการงานร่วมกัน สะท้อนถึงการเป็นชุมชนที่เข้มแข็งได้เป็นอย่างดี

ความโดดเด่นของชุมชนนี้จึงอยู่ที่ระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัย โดยชมรมอุ่นใจ ที่เกิดจากการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนร่วมกัน ทั้งจากเจ้าอาวาส กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล โรงเรียน รพ.สต. และ อสม. จากทุกหมู่บ้านใน ต.แม่ปูคา รวมทั้งชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย จ.เชียงใหม่

ตลอดจนมีการคิดค้นนวัตกรรมแก้ปัญหาผู้ป่วยขาดยาและไม่มาพบแพทย์ตามนัด เป็นต้น ที่สำคัญดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจนส่งกลับคืนสู่สังคม สามารถหาเลี้ยงชีพ และใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างปกติสุข

“กระบวนการดูแลและรักษาผู้ป่วยจิตเวชนั้น หลักสำคัญคือต้อง 3 ประสาน ได้แก่ โรงพยาบาล ครอบครัว และชุมชน ที่ต้อง เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย ให้การยอมรับ และให้โอกาสกับพวกเขา”

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ผู้ป่วยได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ ได้ประกอบอาชีพด้วยตนเอง มีกิจการเป็นของตนเองหรือแม้แต่เป็นพนักงานของบริษัทต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนในชุมชนต้องให้โอกาสนั้นแก่ ผู้ที่เคยป่วย เพื่อให้เขากลับมาใช้ชีวิตได้เยี่ยงคนปกติทั่วไป อีกทั้งการกลับคืนสู่สังคม จะทำให้ผู้ป่วยนั้นมี สุขภาพจิตที่ดีขึ้นกระทั่งหายป่วยได้” น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวด้วยว่า โรคทางจิตเวชทุกโรครักษาได้ เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ไม่ขาดยาหรือลดยาเอง

ที่สำคัญไม่ใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางจิตขั้นรุนแรง การลงพื้นที่ชุมชนในครั้งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการให้สังคมภายนอกได้เห็นถึงพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“เมื่อร่วมมือกันช่วยเหลือผู้ป่วยเขาก็จะมีโอกาสหายขาดและกลับคืนสู่สังคมไวขึ้น” น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวสรุป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน