นวัตกรรมการเกษตร อิสราเอลถ่ายทอดให้ไทย

นวัตกรรมการเกษตร อิสราเอลถ่ายทอดให้ไทย – จากวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันอันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ต่างมุ่งแสวงหาแนวทางสำหรับการปรับโครง สร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างโอกาสการจ้างงานภายในประเทศ และชดเชยการสูญเสียรายได้จากภาคธุรกิจการส่งออกและการท่องเที่ยว

ตัวเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้คือการเพิ่มศักยภาพในภาคธุรกิจการเกษตร เพื่อส่งเสริมการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน และเพิ่มความยืดหยุ่นภายในประเทศ เมื่อต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่คล้ายกันมาแล้วในอดีตก็คือ อิสราเอล

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการเริ่มต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวในอิสราเอล นายรูเว็น ริฟลิน ประธานาธิบดีอิสราเอล เดินทางไปยังนิคมสหกรณ์การเกษตร (คิบบุตซ์) นิคมการเกษตรในรูปแบบสหกรณ์ภายใต้หลักการแบบสังคมนิยม พร้อมกล่าวว่า “หากไม่มีการเกษตร การประกาศอิสรภาพของอิสราเอลย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้”

คำกล่าวข้างต้นนั้นสะท้อนถึงความคล้ายคลึงร่วมกันระหว่างอิสราเอลกับไทย นั่นคือความสำคัญของเกษตรกรรม

เป็นที่ทราบกันดีว่าการเกษตรนั้นเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของอิสราเอล

ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา อิสราเอลมุ่งมั่นพัฒนาการเกษตรที่มีเสถียรภาพ อันส่งผลให้เป็นประเทศชั้นนำด้านวิทยาการการ เกษตรระดับโลก ทุกวันนี้อิสราเอลได้แบ่งปันความรู้ความสามารถทางนวัตกรรม และมอบแนวทางที่เป็นรูปธรรมให้ประชาคมโลก เพื่อช่วยในการเอาชนะความท้าทายด้านต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ในขณะที่การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจระยะยาวหลังยุคโควิดนั้นยุทธศาสตร์ระยะยาวด้านหนึ่งที่สำคัญคือ การส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อันจะเป็นเครื่องจักรใหม่ทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าภาคการเกษตรในปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง การประยุกต์และลงทุนด้านนวัตกรรม รวมถึงวิธีการทำเกษตรอัจฉริยะนั้น เกษตรกรไม่สามารถที่จะทำได้เพียงลำพัง แต่ต้องมีแผนงานยุทธศาสตร์และการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ

ภัยแล้งที่รุนแรงในปัจจุบันและข้อจำกัดการเข้าถึงระบบชลประทาน นับเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญเร่งด่วนของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อิสราเอลเองก็ประสบกับปัญหาภัยแล้งบ่อยครั้งเช่นเดียวกัน

โดยพื้นที่กว่าร้อยละ 60 ของประเทศเป็นทะเลทราย ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำอีกด้วย

ดังนั้นแล้วช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิสราเอลได้สั่งสมความรู้ที่มีค่ายิ่ง ผ่านการลงทุน ด้านการวิจัยและการพัฒนา รวมทั้งพัฒนาวิทยาการน้ำที่ประสบผลสำเร็จหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นระบบการชลประทานน้ำหยด การให้ปุ๋ยโดยใช้น้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย และการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ

อีกประเด็นที่สำคัญที่ต้องกล่าวถึงคือ ความจำเป็นในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ระบบการเกษตรแบบแม่นยำช่วยแก้ปัญหาผลผลิตที่ตกต่ำซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำได้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรได้อีกด้วย การใช้ข้อมูลจากระบบเซ็นเซอร์ ภาพถ่ายจากดาวเทียม อุปกรณ์ประมวลผลด้วยตัวเอง และกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่

ทั้งหมดนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งของการ เกษตรแบบแม่นยำที่อิสราเอลได้นำมาใช้จริง

นอกจากนี้ การเกษตรแบบแม่นยำยังช่วยให้เกษตรกรวิเคราะห์การเจริญเติบโตและโรคที่อาจเกิดขึ้นกับพืชได้อย่างรวดเร็ว และเก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสมได้ ที่สำคัญคือช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงในการทำการเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลกำไรและประสิทธิ ภาพให้เกษตรกร

การขาดแคลนแรงงานนับเป็นอีกประเด็นหนึ่งทางโครงสร้างที่จะต้องได้รับการแก้ไขในระยะสั้นนี้ บางประเทศ เช่น ประเทศไทย ผู้ว่างงานจำนวนมากอาจหางานทำในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร

ขณะที่ในประเทศอื่นๆ การแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อาหาร และการขาดแคลนแรงงานจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวนั้นสังคมผู้สูงอายุและการขาดแคลนแรงงานในอนาคตเป็นความท้าทายที่สำคัญในหลายประเทศ ดังนั้นแล้วการใช้แนวทางการเกษตรอัจฉริยะจะช่วยลดความต้องการในการพึ่งพาแรงงานจำนวนมากในอนาคตได้

จากการที่ทั่วโลกต่างพยายามลดผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 การพัฒนานวัตกรรมการเกษตรถือเป็นกลไกที่สำคัญสำหรับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในอนาคตและเป็นแหล่งเสริมสร้างความมั่นคงในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย

ถึงเวลาของนวัตกรรมการเกษตร

การพัฒนานวัตกรรมการเกษตรไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังสร้างความพร้อมในสังคมเพื่อรับมือกับความไม่มั่นคงทางอาหารที่อาจเกิดขึ้นได้

ดังนั้นแล้ว การที่แต่ละประเทศได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่มีค่า และลงทุนในวิทยาการการเกษตรนั้น อาจเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของมนุษยชาติที่จะต่อสู้ร่วมกันเพื่อเอาชนะความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ

ดร.เมเอียร์ ชโลโม
เอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน