คอลัมน์ ข่าวสดสุขภาพ : มะเร็งลำไส้ใหญ่ หมอแนะใช้ชีวิตให้ห่างโรค

มะเร็งลำไส้ใหญ่ – โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของคนไทย มักพบมากในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

นพ.ศุภพัชญ ศรีภูษณาพรรณ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ จาก Addlife Anti-Aging Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) กล่าวว่า โดยปกติมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเริ่มเกิดจากติ่งเนื้อเล็กๆ (polyp) ในลำไส้ใหญ่ หลังจากนั้นประมาณ 5-10 ปีจะค่อยๆ มีขนาดโตขึ้นและจะมีติ่งเนื้อบางส่วน เกิดการกลายพันธุ์จนกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในที่สุด

นพ.ศุภพัชญ กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น, การรับประทานอาหารที่มีกากใยต่ำและมีไขมันสูง, การรับประทานเนื้อแดง อาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม, การสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณสูง, ภาวะอ้วนลงพุงหรือน้ำหนักเกิน, ประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่, อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่มีได้หลากหลาย ผู้ป่วยอาจมีอาการขับถ่ายผิดปกติ มีท้องผูกสลับท้องเสีย บางคนมีอาการปวดท้องเรื้อรัง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการรุนแรงจนมีอาการถ่ายเป็นเลือดหรือลำไส้อุดตัน

อย่างไรก็ตามบางคนอาจจะไม่มีอาการแสดงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ได้ เพราะอาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้นมักไม่ค่อยแสดงอาการออกมาให้เห็น ถ้าเริ่มมีอาการออกมาเมื่อไหร่นั่นหมายความว่าระยะของโรคมะเร็งมักจะไปไกลแล้ว อาการที่แสดง เช่น เบื่ออาหาร ท้องอืด ถ่ายผิดปกติ มีเลือดปนในอุจจาระ ถ่ายยาก ลำบาก อุจจาระลำเล็กลง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

ดังนั้นหากไม่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองมีมะเร็งลำไส้ใหญ่ซ่อนอยู่

นพ.ศุภพัชญกล่าวด้วยว่า มะเร็งเป็นโรคที่เกิดการพฤติกรรมและการใช้ชีวิตก็ไม่ผิดนัก ดังนั้นถ้าอยากหนีและลดความเสี่ยงจากมะเร็งร้าย สามารถทำได้ 2 วิธีหลัก คือ

1.หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ พฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตมีผลทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่า 1 ใน 3 คำแนะนำและเคล็ดลับในการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง และมีอนุมูลอิสระ (antioxidant) สูง ผักและผลไม้หลากสี เช่น ฟักทอง แครอต ผักโขม คะน้า บร็อกโคลี่ บีตรูต แอปเปิ้ล กระเทียม ขิงและธัญพืชต่างๆ, เลี่ยงอาหารรสจัด ไขมันสูงและเนื้อแดง, เลี่ยงอาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียมและอาหารหมักดอง, งดสูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์อย่างพอเหมาะ, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มีภาวะอ้วนลงพุง

2.ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ปกติแนะนำให้คนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีหรือคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยวิธีที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมในปัจจุบัน ได้แก่ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เนื่องจากหากตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่จากการส่องกล้อง

แพทย์จะสามารถตัดเอาติ่งเนื้อเหล่านั้นออกมาเพื่อตรวจวินิจฉัยและป้องกันการกลายเป็นมะเร็งของติ่งเนื้อนั้นในอนาคตได้ นอกจากนั้นยังมีการตรวจคัดกรองอื่นๆ ได้แก่ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonoscopy) หรือตรวจเลือดที่ปนมากับอุจจาระ (Stool occult blood) ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นเดียวกัน

“คนส่วนใหญ่ละเลยการตรวจเช็กโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำให้มักพบเมื่อป่วยเข้าสู่ระยะท้ายๆ แล้ว ดังนั้นการรู้เท่าทันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการดูแลใส่ใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจเช็กตั้งแต่เนิ่นๆ คือหนทางป้องกันโรคได้ในระยะยาว” นพ.ศุภพัชญกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน