เปิดแอพ‘HERO’ดูแลเด็ก เช็กสุขภาพจิตช่วงเปิดเทอม

เปิดแอพ‘HERO’ดูแลเด็ก – โรงเรียนกลับมาเปิดเทอมกันแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. หลังหยุดยาวกันมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงเปิดตัวแอพพลิเคชั่น HERO เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ ดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนภายใต้สถานการณ์โรคโควิด-19

พร้อมลงนามความร่วมมือการใช้แอพพลิเคชั่น HERO ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดย นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลช่วงก่อนโควิด-19 พบว่า นักเรียน 20% มีปัญหาเรื่องพฤติกรรม อารมณ์ หรือทักษะสังคม แต่ไม่ใช่การเจ็บป่วย ถ้าช่วยเหลือดูแลจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ เรียนหนังสือได้ดี มีเพื่อน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องปัญหาการปรับตัว ความรัก

อย่างไรก็ตามช่วงหลังโควิด เด็กต้องปรับตัวใหม่หลังหยุดไปนาน ทั้งการเจอครูใหม่ เพื่อนใหม่ ปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ในมาตรการป้องกันเชื้อของโรงเรียน

เพื่อลดปัญหาเรื่องการปรับตัว กรมร่วมกับ สพฐ.ในการทำโปรแกรมบูรณาการความร่วมมือระหว่างระบบการศึกษาและระบบสุขภาพเพื่อดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนกว่า 6 ล้านคนบนระบบดิจิตอล (Health and Educational Re-integrating Operation : HERO) ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้จะมีแบบสังเกตอาการ เพื่อให้ครูเฝ้าระวังปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ สังคม

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า เดิมแบบประเมินสังเกตอาการที่ใช้เรียกว่า SDQ25 มีความยุ่งยาก เพราะต้องตอบคำถาม 25 ข้อ จึงพัฒนาแบบสังเกตอาการตัวใหม่ลงในแอพพลิเคชั่น HERO เรียกว่า 9S ซึ่งจะประเมินเพียง 9 ข้อเท่านั้น ทำให้ทำประเมินได้ง่าย ใช้เวลาสั้น ค้นหาและช่วยเหลือได้เร็วขึ้น

โดย 9 ข้อ คือ 1.ซนเกินไป 2.ใจลอย 3.รอคอยไม่เป็น 4.เศร้า/เครียด หงุดหงิดง่าย 5.ท้อแท้ เบื่อหน่าย 6.ไม่อยากไปโรงเรียน 7.ถูกเพื่อนแกล้ง 8.แกล้งเพื่อน และ 9. ไม่มีเพื่อน

จากการดำเนินการทดลองนำร่องใน 13 พื้นที่ คัดกรองเด็ก ม.1 จำนวน 5,311 คน โดยใช้ 2 เครื่องมือเทียบกัน คือ 9S และ SDQ ซึ่งตัว 9S เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงได้มากกว่า คือ 24.72% ส่วน SDQ ได้ 11.45% เท่านั้น ถือว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า ข้อน้อยกว่า

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องของครูในการเรียนรู้เทคนิคการส่งเสริม พัฒนา ป้องกัน แก้ไข เรื่องสุขภาพจิตเด็ก ดูแลประเมินผล และปรึกษาและส่งต่อได้ ซึ่งหลังคัดกรองครูก็จะต้องให้คำปรึกษา และปรับพฤติกรรมเบื้องต้น

โดยครูบางท่านมีทักษะอยู่แล้ว บางท่านหากอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในตัวระบบ HERO ก็จะมีอีเลิร์นนิ่งให้ไปเรียนรู้ นำไปใช้ให้คำปรึกษาหารือและปรับพฤติกรรมเด็กได้

ทั้งนี้จากการดำเนินการในพื้นที่นำร่อง พบว่า เด็กดีขึ้นเป็นปกติรวม 70% ส่งต่อแพทย์เพียง 30% ถือว่าเป็นผลดีต่อตัวเด็ก โดยการส่งต่อแพทย์ จะมีการเชื่อมโยงครูและหมอในระบบดิจิตอล

เราเตรียมบุคลากรสุขภาพจิต ทั้งนักจิตวิทยา นักจิตวิทยาโรงเรียน พยาบาลสุขภาพจิต จิตแพทย์ จิตแพทย์เด็กทุกอำเภอ นับว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพเด็กได้รับการช่วยเหลือโดยไม่ต้องไปร.พ. ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่าย ไม่กระทบเวลาเรียน

ด้านนายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.มีโรงเรียนในสังกัดมากกว่า 2.9 หมื่นโรง มีครูประมาณ 4 แสนคน นักเรียนอีก 6.7 ล้านคน การเลื่อนเปิดเทอมจากวันที่ 18 พ.ค. เป็นวันที่ 1 ก.ค. จากสถานการณ์โรคโควิด-19

ทำให้เด็กไม่ได้มาโรงเรียนตั้งแต่แรก ความกังวลก็เกิดขึ้นกับเด็ก และระยะหลังพ่อแม่ต้องไปทำงาน เด็กอาจอยู่ลำพังกับพี่กับน้อง ทำให้ไม่มีใครให้คำปรึกษา ขอบคุณกรมสุขภาพจิตที่ทำแอพพลิเคชั่น HERO มาช่วยให้ประเมินคัดกรองเด็ก ดูแลเด็ก และดีใจแทนเด็กๆ ที่จะได้รับการดูแลอย่างดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน