คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

อย่างไรถึงเรียกว่านกอพยพ และทำไมนกต้องอพยพ

สดุดี

ตอบ สดุดี

ข้อมูลคำตอบนำมาจากงานวิจัยนกอพยพในประเทศไทย ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่า การอพยพย้ายถิ่นของนกคือการเคลื่อนย้ายซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ ระหว่างพื้นที่ซึ่งนกใช้เป็นแหล่งสร้างรังวางไข่ในฤดูผสมพันธุ์ กับพื้นที่ซึ่งนกใช้เป็นแหล่งหากินในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์

โดยมีสาเหตุสำคัญเพื่อหาพื้นที่ที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์ เหมาะสมในการสร้างรัง วางไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ในซีกโลกตอนเหนือซึ่งมีนกอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวอุณหภูมิลดต่ำลง น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง พืชหยุดการเจริญเติบโต สภาพที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมและอาหารลดน้อยลง

นกจึงจำเป็นต้องอพยพเคลื่อนย้ายลงไปยังซีกโลกทางใต้ซึ่งมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์และจะอยู่อาศัยตลอดฤดูหนาว เมื่อถึงฤดูร้อนก็อพยพกลับไปยังถิ่นเดิม เพื่อสร้างรัง วางไข่ เลี้ยงลูกนกให้เติบโตแข็งแรง จากนั้นเมื่อถึงฤดูหนาวนก ก็อพยพมาทางใต้อีก ซึ่งจะเกิดขึ้นเช่นนี้เป็นประจำ

นกเป็นสัตว์ที่มีโครงสร้างร่างกายรวมทั้งระบบเผาผลาญอาหารที่เหมาะกับการดำรงชีวิตในอากาศ และมีประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่สูง ทำให้นกสามารถแสวงหาแหล่งอาศัยที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตในแต่ละฤดูกาลได้ นกจึง เป็นสัตว์ที่มีการอพยพย้ายถิ่นมากที่สุด ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการอพยพย้ายถิ่นของนกก็คือความอุดมสมบูรณ์และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละฤดูกาล

สำหรับในประเทศไทย พบนกมากกว่า 982 ชนิด จัดเป็นนกประจำถิ่น 567 ชนิด นกอพยพย้ายถิ่น 326 ชนิด นกที่มีสถานภาพเป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพจำนวน 89 ชนิด จำแนกประเภทตามการพบเห็นตามฤดูกาลได้ดังนี้ 1.นกประจำถิ่น (Resident) คือนกชนิดที่ปรากฏพบเห็นอาศัยหากิน ผสมพันธุ์ วางไข่และเลี้ยงลูกอยู่ในเมืองไทยตลอดทั้งปี

2.นกอพยพย้ายถิ่นในฤดูหนาว (Non-breeding visitor หรือ Winter visitor) คือนกที่อพยพช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบในประเทศไทยช่วงฤดูหนาว อพยพมาจากรัสเซียและจีน ตั้งแต่ประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคม และอพยพกลับราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน ได้แก่ กลุ่มนกบก เช่น นกพงหญ้า นกกินแมลง นกนางแอ่น และกลุ่มนกเป็ดน้ำ เป็นต้น

3.นกอพยพย้ายถิ่นผ่าน (Winter visitor Passage Migrant) คือนกที่อพยพจากซีกโลกตอนบน ได้แก่ ประเทศรัสเซีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ผ่านประเทศไทยไปยังซีกโลกตอนใต้ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย พบในประเทศไทยในช่วงต้นของฤดูอพยพตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงพฤศจิกายน และย้ายถิ่นกลับขึ้นไปในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม บางชนิดบางส่วนอาจอาศัยอยู่ในเมืองไทยช่วงฤดูหนาว ได้แก่ กลุ่มนกชายเลน กลุ่มนกล่าเหยื่อ ฯลฯ

4.นกอพยพย้ายถิ่นเข้ามาสร้างรัง (Breeding visitor) คือนกที่อพยพมาเพื่อผสมพันธุ์สร้างรังวางไข่ในประเทศไทยบางช่วง บางชนิดเข้ามาในฤดูฝน บางชนิดเข้ามาในฤดูแล้ง บางชนิดเข้ามาในช่วงปลายปีหรือต้นปีราวเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน สร้างรังวางไข่ในราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม เมื่อลูกนกโตแข็งแรงจะบินกลับในราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม นกในกลุ่มนี้ได้แก่ นกปากห่าง นกแอ่นทุ่ง เป็นต้น และ 5.นกย้ายถิ่นในฤดูหนาว พบเห็นน้อยครั้ง

ทั้งนี้ ในประเทศไทย แบ่งกลุ่มของนกอพยพได้ดังนี้

1.กลุ่มนกบก (Terrestrial Bird) เมื่ออากาศหนาว ดินแห้ง น้ำเป็นน้ำแข็ง ต้นพืชหยุดเจริญเติบโตไม่ผลิดอกออกผล แมลงจะหลบพักซ่อนตัวอยู่ในดิน หรือในแหล่งต่างๆ นกก็ต้องอพยพลงมาสู่พื้นที่แหล่งที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ นกกินเมล็ดพืช และนกกินแมลง เช่น นกจาบปีกอ่อน นกเด้าลม นกพงหญ้า นางแอ่นบ้าน

2.กลุ่มนกทะเล (Sea Bird) เมื่ออากาศหนาว น้ำเป็นน้ำแข็ง ไม่สามารถจับหาปลาเป็นอาหารได้ ก็ต้องอพยพเคลื่อนย้ายมาตามชายฝั่งที่อบอุ่นกว่า ได้แก่ พวกนกนางนวล ฯลฯ

3. กลุ่มนกชายเลน (Shore Bird) เมื่อน้ำเป็นน้ำแข็ง นกที่อาศัยในพื้นที่แหล่งน้ำก็ต้องอพยพไปหาแหล่งน้ำที่มีอาหารและที่หลบภัยทางตอนใต้ ซึ่งสามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยตลอดฤดูหนาว ได้แก่ นกทะเลขาแดง นกสติ๊นต์ นกปากซ่อม ฯลฯ 4.กลุ่มนกลุยน้ำ (Wadering Bird) เช่นเดียวกัน เมื่ออากาศหนาว นกที่อาศัยในพื้นที่แหล่งน้ำก็ต้องอพยพไปหาแหล่งน้ำที่มีอาหารและที่หลบภัยทางตอนใต้ ได้แก่ นกยาง นกกระสา นกอัญชัน ฯลฯ

5.กลุ่มห่านป่าและนกเป็ดน้ำ (Waterflow) ได้แก่ ห่านคอขาว เป็ดแดง เป็ดลาย ฯลฯ และ 6.กลุ่มนกล่าเหยื่อ เมื่อนกหรือสัตว์ที่เป็นเหยื่ออพยพลงมาทางใต้ นกล่าเหยื่อไม่สามารถหาอาหารกินได้ก็ต้องอพยพตามลงมาเช่นกัน ได้แก่ เหยี่ยวและนกอินทรีชนิดต่างๆ

ฉบับพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) มาดูสาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นให้นกอพยพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน