คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

ฉบับวานนี้ (18 ก.ค.) “สดุดี” ถามว่า อย่างไรถึงเรียกว่านกอพยพ และทำไมนกต้องอพยพ เมื่อวานตอบเกี่ยวกับการจำแนกกลุ่มและชนิดของนกอพยพในประเทศไทยไปแล้วโดยข้อมูลคำตอบนำมาจากงานวิจัยนกอพยพในประเทศ ไทย ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วันนี้มาดูสาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นให้นกอพยพ

เนื่องจากนกเป็นสัตว์ที่มีเมตาบอลิซึม (metabolism) สูง จึงจำเป็นต้องกินอาหารตลอดเวลาเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องหาพื้นที่แหล่งอาหารที่สมบูรณ์และพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างรัง วางไข่ เลี้ยงดูลูกอ่อน การอพยพย้ายถิ่นของนกเกิดเนื่องมาจาก 2 ปัจจัยที่สอดคล้องกันคือ สภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ

กล่าวคือต้องมีสภาพแวดล้อมและช่วงเวลาเหมาะสมที่มีอาหารเหลือพอสำหรับสะสมพลังงานสำรองไว้ในตัวให้มากพอที่จะใช้ในระหว่างเดินทาง ซึ่งอาจไม่มีการแวะกินอาหารเลย และช่วงอุณหภูมิที่พอเหมาะที่ไม่ต้องใช้พลังงานในการบินมากเกินไป การรอจนอาหารเริ่มขาดแคลนและอุณหภูมิลดต่ำลงมาก

นอกจากนกจะต้องสูญเสียพลังงานมากในการบินระยะไกลแล้ว เมื่ออพยพไปถึงถิ่นใหม่ นกต้องใช้เวลาในการแก่งแย่งที่อยู่กับเจ้าของถิ่นเดิม ต้องใช้เวลาในการจับคู่ ทำรัง ฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อนให้แข็งแรงพอในการอพยพกลับ

แสงแดดที่ยาวนานในตอนกลางวันของฤดูใบไม้ผลิเป็นสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้นกที่เตรียมการอพยพ เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในเซลล์ประสาทที่อยู่ทางส่วนล่างของสมอง ต่อมไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) จะหลั่งสารเคมีออกมากระตุ้นให้นกเกิดความอยากกินอาหารมากกว่าปกติ สารเคมีโพรแลกติน (Prolactin) จากต่อมใต้สมองพิทูอิทารี (pituitary) จะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติคอสเตอโรน (Corticosterone) จากต่อมอะดรีนัล (adrenal) และฮอร์โมนเพศต่างๆ

เช่น เทสโตสเตอร์โรน (testosterone) การหลั่งฮอร์โมนจากต่อมต่างๆ ในสมองและอวัยวะที่มีต่อมควบคุมฮอร์โมนเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้นกกินอาหารมากกว่าปกติ เพื่อให้อาหารส่วนเกินแปรรูปไปเป็นไขมันเก็บไว้ใต้ผิวหนังที่กล้ามเนื้อปีกและช่องท้อง

การกินอาหารนี้จะต้องมากกว่าร้อยละ 40 ของที่เคยกินตามปกติ นกเล็กๆ เช่น นกกระจอก นกกระจ้อย ต้องกินอาหารถึง 1-1.5 กรัมต่อวัน และการกินเช่นนี้ต้องกระทำนานถึง 2 สัปดาห์ก่อนการอพยพ นอกจากนั้น ร่างกายจะต้องปรับสภาพให้เปลี่ยนอาหารส่วนเกินไปเก็บในรูปของพลังงานสำรอง เช่น ไขมัน ได้อย่างรวดเร็ว

ก่อนการอพยพนกจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 3-5% ของน้ำหนักปกติ เมื่อถึงเวลาอพยพจริงนกที่อพยพในเส้นทางระยะสั้นและระยะกลางจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 15% ของน้ำหนักตัวปกติ แต่นกที่อพยพข้ามทวีประยะทางไกลจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 30-50% ไขมันที่เก็บไว้นี้ให้พลังงานแบบไม่ใช้ออกซิเจนในการเผาผลาญพลังงาน

กล่าวคือกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบินสามารถแปรรูปไขมันไปเป็นพลังงานได้ทันทีโดยไม่ทำให้นกเหนื่อยหรืออ่อนเพลีย นกที่อพยพมาเพื่อทำรัง วางไข่ จะอ้วนและมีไขมันที่สะสมมากกว่านกที่อพยพเพื่อหนีหนาว แสดงว่านกมีการเตรียมตัวอพยพระยะทางไกลเพื่อทำรัง วางไข่ มากกว่าการอพยพเพื่อหนีหนาว

ปัจจัยและสิ่งเร้า ทั้งแสงแดดที่ยาวนานในตอนกลางวัน สภาพแวดล้อมและภูมิอากาศที่เหมาะสมในทั้งสองสถานที่จะต้องพอเหมาะสอดคล้องกัน นกจึงจะอพยพ ถ้าปีใดฤดูใบไม้ผลิมาถึงเร็ว การอพยพก็จะเร็วขึ้น ถ้าหากฤดูใบไม้ผลิช้า การอพยพก็จะล่าไปด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน