คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

น้าชาติ เป็นงงอ่ะ คลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ ยังมีคลองบางหลวงอีก คือตรงไหนคะ

หนูน้อย

ตอบ หนูน้อย

ก่อนจะลงคลอง ทำความรู้จักกับ “ตำบลบางกอก” ก่อนนักประวัติศาสตร์โบราณคดีคนสำคัญ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายไว้ว่า ตำบลบางกอกอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใกล้อ่าวไทย เป็นบริเวณที่ลำแม่น้ำเจ้าพระยาไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้า (oxbow lake)

กล่าวคือ เมื่อแม่น้ำไหลจากทิศเหนือผ่านเขตจังหวัดนนทบุรีมาถึงสถานีรถไฟบางกอกน้อย ก็ไหลวกไปทางทิศตะวันตก กลายเป็นคลองบางกอกน้อย พอถึงบางระมาดก็ไหลวกลงใต้ กลายเป็นคลองบางระมาด มาถึงวัดนวลนรดิศแล้ววกมาทางตะวันออกเป็นคลองบางกอกใหญ่ เมื่อมาถึงวัดอรุณราชวรารามก็วกไหลเรื่อยลงไปทางทิศใต้จนออกทะเลที่ปากแม่น้ำ

การที่ลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมไหลคดเคี้ยวเป็นรูปโค้งเกือกม้านั่นเอง เป็นเหตุให้สองฟากแม่น้ำคดโค้งนี้กลายเป็นที่ดอนขึ้นมา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากแม่น้ำนำตะกอนจากที่ต่างๆ ทางเหนือมาทับถมทุกปีในฤดูน้ำหลาก จึงเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนย่านบางกอกมีความเจริญและพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางของประเทศได้ ก็เพราะมีลำน้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อทั้งภายในภายนอกได้สะดวก

ในบรรดาบ้านเมืองสำคัญๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-19 ด้วยกันแล้ว จะเห็นว่าพระนครศรีอยุธยา อันเป็นราชธานีของไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมานี้ จำเป็นต้องอาศัยลำแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ

ดังนั้นการเดินเรือจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อจะเข้าไปยังพระนครศรีอยุธยาจึงต้องผ่านชุมชนที่เป็นบ้านเมืองขึ้นไปเป็นระยะๆ เมื่อ เดินทางเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาแล้ว ก็จะถึงชุมชนย่านบางกอก เป็นแหล่งพักสินค้าได้ดีที่สุด เพราะเส้นทางน้ำที่จะเดินทางต่อไป ไม่สะดวกเนื่องจากลักษณะคดและโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ดังกล่าวมาแล้วจะต้องเสียเวลาอีกมากนัก

มาถึงกำเนิดคลองบางกอกน้อย และคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกไว้ว่า “ศักราช 884 ปีมะโรง จัตวาศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านั้น ได้ขุดคลองบางกอกใหญ่ตำบลหนึ่ง”

คลองบางกอกน้อย เคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2077-2089) โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำขึ้นจากปากคลองบางกอกน้อยไปยังปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งกล่าวกันว่า ช่วยย่นระยะทางได้ถึง 1 วัน ต่อมากระแสน้ำส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่คลองลัดทำให้คลองกว้างขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ส่วนแม่น้ำสายเดิมแคบลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่แทน

คลองบางกอกน้อยเริ่มต้นตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาทางเหนือของสถานีรถไฟธนบุรี ไหลขึ้นไปบรรจบคลองชักพระ (คลองบางขุนศรี) และคลองลัดบางกรวย ตรงข้ามวัดสุวรรณคีรี มีความกว้างมากถึง 40 เมตร และยาว 3.3 กิโลเมตร ในปัจจุบันช่วงคลองลัดบางกรวย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งคลองบางกอกน้อยไปด้วย รวมถึงคลองอ้อม หรือคลองอ้อมนนท์ ก็เรียกกันทั่วไปว่าคลองบางกอกน้อยเช่นกัน

ส่วนคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวง เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวคือบริเวณตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อย ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปจนถึงปากคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน ยังเป็นแผ่นดินอยู่ แม่น้ำเจ้าพระยาเดิมจะอ้อมเลี้ยวจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นคุ้งกว้างมาทะลุออกข้างวัดท้ายตลาด

ต่อมาใน รัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชโปรดฯ ให้ขุดคลองลัดระหว่าง คุ้งแม่น้ำทั้งสองเพื่อย่นระยะทางและอำนวยความสะดวกให้กับบรรดาพ่อค้าทูตานุทูตชาวตะวันตก ที่เริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาคลองลัดเริ่มกว้างใหญ่ขึ้นกลายเป็นแม่น้ำ ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมก็เล็กลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่

ถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ราชสำนักย้ายมาอยู่ที่กรุงธนบุรี คลองบางกอกใหญ่กลายมาเป็นชุมชนของข้าหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้บรรดาคนจีน ซึ่งได้เคยช่วยเหลือพระองค์มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า คลองบางข้าหลวง หรือ คลองบางหลวง สืบมาถึงในปัจจุบัน ปากคลองบางกอกใหญ่ แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งขวาของป้อมวิไชยประสิทธิ์ไปสิ้นสุดที่คลองมอญ ตรงข้ามปากคลองชักพระ มีความยาวประมาณ 6 กิโลเมตร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน