คาดการว่าคนไทยเป็นโรคต้อหินประมาณ 1.7-2.4 ล้านคน โรคต้อหินเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดชนิดถาวร ที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 มักพบมากในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปแต่อาจพบได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยมีแนวโน้มพบเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ยิ่งอายุมากยิ่งพบมาก

ศูนย์ตา ชั้น 6 โรงพยาบาลสุขุมวิท ให้คำแนะนำว่า โรคต้อหิน เป็นกลุ่มโรคที่เกิดความผิดปกติที่ขั้วประสาทตาที่มีแบบ เฉพาะตัว โดยจำนวนเซลล์ประสาทตาค่อยๆลดจำนวนลงและไม่สามารถสร้างทดแทนขึ้นใหม่ได้ ทำให้สูญเสียการมองเห็น มักมีภาวะความดัน ลูกตาสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ แต่ความดันตาอาจจะสูงหรือเป็นปกติก็ได้

 

โรคนี้จะมีการทำลายขั้วประสาทตาและเส้นประสาทตาอย่างค่อยเป็นค่อยไป การทำลาย ดังกล่าวมีผลทำให้ลานสายตา หรือความกว้างของการมองเห็นแคบลงตามัวลง หากไม่รักษา หรือตรวจพบแล้วแต่รักษาไม่ต่อเนื่อง ควบคุมโรคไม่ดีจะสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

ความดันลูกตาที่ผิดปกติเกิดจากการเสียสมดุลของการระบายน้ำหล่อเลี้ยงภายในตา ซึ่งเป็นของเหลวใสภายในช่องด้านหน้าของลูกตา ในคนไทยค่าเฉลี่ยความดันลูกตาอยู่ที่ประมาณ 13-14 มิลลิเมตรปรอท ดังนั้นหากมีค่าความดันตา 20 มิลลิเมตรปรอท หรือสูงกว่าก็ถือว่าผิดปกติมาก

กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคต้อหิน คือ 1.ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ หรือเป็นโรคที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงขั้วประสาทตาลดลง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดัน โลหิตสูง 2.ผู้ที่มีสายตาสั้นมากหรือ ยาวมาก ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดดวงตาหรือเคยมีอาการตาอักเสบ

3.ผู้มีประวัติการกระแทกหรือเกิดอุบัติเหตุบริเวณดวงตา 4.ผู้ที่ใช้ ยากิน หยอดตา พ่นยา ทายาด้วยยาสเตียรอยด์ 5.มีประวัติเป็นโรค ปวดหัวไมเกรน หรือมีภาวะปวดปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า อย่างรุนแรงเวลาโดนความเย็น

และ 6.ภาวะเครียดหรือการใช้สายตาอย่างมากติดต่อเป็นเวลานาน อาจกระตุ้นให้เป็นต้อหินบางชนิดได้ อาชีพหรือกิจกรรมบางประเภท ที่เพิ่มความดันบริเวณคอและใบหน้าอาจทำให้ความดันตาสูงขึ้น

ส่วนประเภทของโรคต้อหิน หากแบ่งตามสาเหตุ ต้อหินชนิดเป็นเองที่เรียกว่าต้อหินปฐมภูมิ (primary glaucoma) หรือต้อหินที่เกิดจากโรคอื่นที่เรียว่าต้อหินทุติยภูมิ (secondary glaucoma) แต่ถ้าจะแบ่งตามอาการแสดงที่มาพบแพทย์ ก็อาจจะแบ่งเป็นต้อหินชนิดเรื้อรังและต้อหินชนิดเฉียบพลัน

ต้อหินปฐมภูมิ ได้แก่ ต้อหินชนิดมุมเปิด (Primary Open-Angle Glaucoma, POAG) เป็นต้อหินที่พบได้บ่อยกว่าต้อหินประเภทอื่น สำหรับคนไทยพบต้อหินชนิดมุมปิด (Primary Angle-Closure Glaucoma) ส่วนใหญ่เป็นชนิดโรคต้อหินแบบเรื้อรังซึ่งไม่มีอาการ

ส่วนน้อยจะเป็นต้อหินเฉียบพลันที่อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดตา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ส่วนต้อหินแต่กำเนิด (Congenital Glaucoma) มักพบในเด็กแรกคลอด-3 ปี เกิดจากพันธุกรรม หรือสาเหตุอื่นๆ

ผู้ป่วยโรคต้อหิน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการในระยะแรก การสูญเสียของประสาทตาเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง เพราะเป็นการสูญเสียลานสายตาที่จะเกิดบริเวณรอบนอกก่อนและจุดบอดเกิดขึ้นในตาข้างหนึ่งจะถูกชดเชยด้วยจุดที่มองเห็นของตาอีกข้างหนึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัว

เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการเดินชนขอบประตู ชนเสา ไม่มั่นใจขณะเดินขึ้นลงบันได เพราะมองไม่เห็นด้านข้าง จนกระทั่งสูญเสียลานสายตาในส่วนตรงกลาง ซึ่งกระทบต่อการอ่านหนังสือ ทีวี และมือถือ จึงสังเกตความผิดปกติได้ในที่สุด คือ สูญเสียทั้งหมดของลานสายตาหรือภาวะตาบอดนั่นเอง

การมีอาการร่วมอย่างอื่นเช่น ตาแดง หรือปวดตาพบได้ไม่บ่อยในต้อหินประเภทเรื้อรังนับเป็นภัยเงียบ หรือภัยมืดที่คุกคามอย่างไม่รู้ตัว

ผู้ป่วยที่เป็นต้อหินชนิดเฉียบพลัน จะเกิดขึ้นเร็วภายใน 1-2 วัน มีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะรุนแรง ตาแดง ตามัว อาจมองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ อาจมีคลื่นไส้อาเจียน หากไม่ได้รักษาอย่างเร็วจะทำให้เซลล์ประสาทตาเสีย และสูญเสียการมองเห็น โดยไม่สามารถรักษาให้กลับมาดีเหมือนเดิม

บางครั้งมีการตายของกล้ามเนื้อม่านตาทำให้ไม่สามารถควบคุมแสงได้ ควรตรวจคัดกรองโรคต้อหินก่อนมีอาการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน