คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

ปฤษณา กองวงค์

ในปี 2557 องค์การอนามัยโลกระบุว่า คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับที่ 78 ของโลก เฉลี่ย 7.1 ลิตร ต่อคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในผู้หญิง และจากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของประชากร พ.ศ.2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติและออกรายงานปี 2556 พบว่าจังหวัดที่มีความชุกของ นักดื่มสูงสุดคือจ.พะเยา ร้อยละ 54 ตามด้วยแพร่ และเชียงราย

นอกจากนี้ ทั่วประเทศมีโรงงานผลิตสุราในชุมชน 3,800 ราย ครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความชุกของการดื่มสุราสูงสุด ร้อยละ 39.43 พะเยาเมืองน่าอยู่อันดับ 8 ที่มีดีกรี เป็นแชมป์จังหวัดที่มีนักดื่มมากที่สุดพ่วงมาด้วย

จังหวัดพะเยาและทุกภาคส่วน จึงเดินหน้าอย่างจริงจัง เพื่อลบสถิติที่ไม่โสภานี้ พร้อมกำหนด 5 ยุทธศาสตร์การความคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ 1.สร้างคณะทำงานและเครือข่ายทุกระดับ เชื่อมต่อคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด 2.สร้างทีมวิทยากรกระบวนการแก้ไขปัญหา 3.พัฒนาทีมสื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุเชิงสร้างสรรค์

4.ควบคุมการผลิตจำหน่ายสุราชุมชน สุราเถื่อน จัดโซนนิ่ง มีมาตรการภาษี และกำหนดพื้นที่ปลอดเหล้ามากขึ้น และ 5.พัฒนาชุมชนให้เกิดเครือข่ายเข้มแข็งลดปัจจัยเสี่ยง แลกเปลี่ยนและคัดเลือกคนต้นแบบ หมู่บ้านต้นแบบ และส่งเสริมการศึกษาวิจัยในพื้นที่

ตั้งเป้าพะเยาไม่เป็นจังหวัดที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นที่ 1 คนพะเยา ลด ละ เลิก สุรา มีสุขภาวะดี ทั้งยังออกนโยบายเร่งด่วนแก้ไขปัญหา โดยงัดมาตรการ 3 ม. คือ มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางการปกครอง และมาตรการทางสังคม เป็นกรอบดำเนินงาน ส่งผลให้พะเยาลงมาอยู่ในอันดับที่ 25 ได้อย่างรวดเร็ว !!

ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ลงพื้นที่ร่วมงาน “วันงดสุราแห่งชาติ จังหวัดพะเยา ประจำปี 2560” และเยี่ยมชมการขับเคลื่อน “พะเยาโมเดล” สู่ “การแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จังหวัดพะเยา”

ชมกิจกรรมบำบัดผู้ติดสุรา ของร.พ.พะเยา ร.พ.เชียงม่วน และเครือข่ายผู้ให้การบำบัดในพื้นที่ ที่ส่วนหนึ่งได้งัดมาตรการ 9 ยาใจ จากขี้เหล้าหลวงกลายเป็นคนใหม่ในสังคม ทั้งร่วมงานวันงดสุราแห่งชาติ มีพิธีมอบโล่และเกียรติบัตรให้หมู่บ้านต้นแบบ ลด ละ เลิก การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 9 หมู่บ้าน

ได้แก่ บ้านทุ่งเจริญ อ.เชียงม่วน บ้านตุ้มไร่ อ.เมืองพะเยา บ้านทุ่งกล้วย อ.ภูซาง บ้านน้ำแป้ง อ.ปง บ้านทุ่ง อ.จุน บ้านปงเสด็จ อ.ดอกคำใต้ บ้านหนองลื้อ อ.เชียงคำ บ้านป่าฝาง อ.ภูกามยาว และบ้านต้างหนอง อ.แม่ใจ จ.พะเยา

รวมถึงงานแต่งปลอดเหล้า 5 งาน ชมรมคนปลอดเหล้า 1,769 คน และมอบรางวัลบุคคลองค์กรดีเด่น ที่ขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จ.พะเยา 10 รางวัล

ด้วยตระหนักถึงปัญหาน้ำเมาที่ส่งผล กระทบทั้งทางตรง-อ้อม เสียงปฏิญาณตนเลิกเหล้าของคนพะเยาที่ดังกึกก้อง ตอกย้ำชัดว่า “คนพะเยาไม่เอาสุรา”

จากนั้นเดินทางไปชุมชนสู้เหล้า ที่บ้านสันกว๊าน ต.บ้านตุ่น ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ หมู่บ้านต้นแบบ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อปี 2558 หมู่บ้านนี้มีประชากร 506 คน 145 ครัวเรือน นักดื่มส่วนใหญ่อายุ 36-65 ปี ทำอาชีพเกษตรกรและรับจ้าง สาเหตุการดื่มส่วนใหญ่คือ ดื่มฉลองตามเทศกาลต่างๆ และดื่มหลังเลิกงาน เพื่อคลายความปวดเมื่อย หรือที่เรียกว่า “แก้เอว”

บ้านสันกว๊าน ใช้หลัก 3 ก. คือ “กรรมการ กิจกรรม กองทุน” แก้ไขปัญหา ส่งผลให้เกิดหมู่บ้านต้นแบบปลอดเหล้า 9 หมู่บ้าน ใน 9 อำเภอ อัตราการดื่มลดลงจากร้อยละ 70 เหลือ ร้อยละ 10 จากเดิมหมู่บ้านซื้อสุรา 370,000-500,000 บาทต่อปี หลังรณรงค์หมู่บ้านปลอดเหล้าก็ไม่มีค่าใช้จ่ายค่าเหล้าอีก

นายชาติชาย อุปแก้ว วัย 55 ปี ผู้ใหญ่บ้านสันกว๊าน เผยว่า วิถีชีวิตของชุมชนที่ผ่านมามีแต่เหล้าและเหล้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มีการตั้งกองทุนเหล้า หรือ ฌาปนกิจสงเคราะห์ ปี 2533 เก็บเงินคนละ 30 บาท เพื่อซื้อเหล้ามาเลี้ยงแขกในงานศพ การแก้ปัญหาทั้งหยั่งรากฝังลึกนี้ได้หาแนวร่วมและยกเลิกกองทุนดังกล่าว เปลี่ยนเป็นกองทุนดอกไม้สำหรับงานศพ ทำได้ในปี 2543 ช่วยให้เจ้าภาพมีเงินเหลือ ทั้งยังขยายผลไปยังงานบุญ งานผ้าป่า งานกฐินปลอดเหล้า และมีมาตรการที่สำคัญคือ ถ้างานไหนมีเหล้ามาเลี้ยง ผู้นำชุมชนจะไม่เข้าร่วม และช่วงเข้าพรรษาได้รณรงค์ให้ชาวบ้านทำความดีถวายในหลวงร.9 ในสโลแกน “ใจต้องแกร่งกว่าคอ”

ต่อมาลงพื้นที่ ต.ห้วยแก้ว และ ต.ดงเจน อ.ภูกามยาว ติดตามการทำงานของทีมสรรพสามิต ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายโรงงานกลั่นสุราชุมชน และร้านค้าชุมชน ซึ่งออกตรวจพื้นที่ทุกเดือน 9 อำเภอ

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจเยาวชนที่ในสถานพินิจ ร้อยละ 40 ยอมรับว่า ก่อเหตุภายใน 5 ชั่วโมงหลังดื่มสุรา และงานวิจัย ร.พ.รามาฯ พบว่าครอบครัวที่มีความรุนแรงมีอัตราการดื่มสูงกว่าครอบครัวที่ไม่ได้ดื่ม 4 เท่า จากข้อมูลวัดพระบาทน้ำพุ พบว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ ของการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันเกี่ยวพันกับสุรา

น.ส.อรุณี ชำนาญยา ประธานเครือข่ายประชาคมงดเหล้าจังหวัดพะเยา กล่าวว่า การขับเคลื่อนภาคประชาชนในการแก้ปัญหาแอลกอฮอล์ จ.พะเยา กล่าวว่า 4 ปี พะเยาเดินมาถึงบัดนี้ เราเห็นความสำเร็จเห็นความเปลี่ยนแปลง เรามีศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แหล่งท่องเที่ยว กว๊านพะเยา ลดขาย ดื่ม สุราได้ 90 เปอร์เซ็นต์ งานศพปลอดเหล้า 84 เปอร์เซ็นต์ โรงกลั่นสุราจาก 270 เหลือไม่ถึง 160 โรง เราทำได้ แต่หากมาดูที่โรงพยาบาลพะเยาแห่งเดียว มีผู้ติดเหล้าเข้ามารักษา 1,400 คน ไม่นับ 8 อำเภอและที่ไม่เข้ามารับการรักษา

“ตอนนี้โรงกลั่นสุราเริ่มมีปัญหา เพราะคนที่เข้าไปรักษาใน โรงพยาบาล คือคนที่ดื่มสุราชุมชน ร้อยละ 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีอยู่แทบทุกหมู่บ้าน และพี่น้องคนไทยตกอยู่ในอันตรายจากสุราเถื่อน ซึ่งบรรจุในขวดพลาสติกใส หรือแบบ “มัดขอด” คือใส่ถุงพลาสติกใสมัดด้วยยางรัด โดยขาย 3 ถุง 100 บาท มีทั่วไปไม่เฉพาะในจ.พะเยา แต่มีทุกจังหวัด และมากกว่านั้นขายเป็นแกลลอน บรรจุ 5 ลิตร ราคา 300 บาท คือข้อเท็จจริงที่ขายกันปัจจุบัน” น.ส.อรุณีกล่าว

ประธานเครือข่ายบอกอีกว่า การซื้อเหล้าเหล่านี้รวดเร็ว สั่งเช้าได้เย็น สั่งเย็นได้เช้า ซึ่งน่ากลัวด้วยบางแห่งมีการปลอมปนสารพิษในสุรา เช่น ใส่แบตเตอรี่เก่าในถัง 200 ลิตร เอาน้ำไปแช่ข้าวแล้วนำไปกลั่น ยาฆ่าหญ้า บางแห่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐนำเมทิลแอลกอฮอล์ ไปขายในราคา 1,200 บาท แล้วเขาก็เหยาะลงไป เป็นต้น

ที่น่าเป็นห่วงคือตรวจสอบไม่ได้ เพราะสรรพสามิตบอกว่า ต้องติดแสตมป์ ติดฉลาก มีบรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้องและวางขายหน้าร้าน จึงสุ่มตรวจได้คือระเบียบของราชการที่มีปัญหาอยู่ แล้วเราจะทำอย่างไร มันอยู่ใต้ดินทั้งนั้น จึงอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายในระดับประเทศ ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นภัยใหญ่หลวงต่อคุณภาพชีวิตของชาวไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน