คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

“วันนี้ดิฉันตั้งใจมาเป็นลูกศิษย์ เพื่อให้คุณครูที่เป็นเกษตรกรช่วยสอนวิธีดำนา วิถียโสธรเป็นวิถีที่สวยงาม ในแง่การท่องเที่ยวเอง อยากนำเสนอคุณภาพดีๆ ด้านการเกษตรเองก็มีสิ่งสวยงาม อยากให้คนไทยและต่างชาติได้มาเรียนรู้วิถีความเป็นไทย มาร่วมใจกันทำนา มาเรียนรู้วิถียโสธร วิถีข้าว วิถีอีสาน ยโสธรมีอะไรมากกว่าที่อื่น วันนี้ไม่ใช่แค่มาปลูกข้าว แต่ได้มาเรียนรู้วิถีข้าว และทำให้เกิดสำนึกรักธรรมชาติ” นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดงาน “ร่วมลงขัน ชวนกันไปทำนา จากเมืองสู่ท้องทุ่ง” ที่บ้านคำครตา ต.ดงมะไฟ อ.ทรายมูล จ.ยโสธร โดยมีสองรองผวจ.ยโสธรเข้าร่วมคือ นายวีระวัฒน์ วงศ์ว่องไว และ น.ส.เพ็ญศรี เจริญสุทธิพันธ์

พร้อมกันนั้นรมว.การท่องเที่ยวฯ ยังรับปากว่าถ้ามีโอกาสจะมาเกี่ยวข้าวที่ดำนาปลูกไว้ในเดือนพ.ย.นี้ ทำเอาเกษตรกรบ้านคำครตาปลื้มอกปลื้มใจกันเป็นแถว

ด้านเศรษฐินีหลายพันล้าน “เจ้เล้ง น.ส.อารยา ลาภชีวะสิทธิฉัตร” ซึ่งปกติมักไม่ชอบออกงานสังคม แต่เนื่องจากเห็นว่าเป็นงานช่วยเกษตรกรเลยชวนลูกสาว เลขาฯ และเพื่อน 2 คน รวม 5 ชีวิต มาร่วมลงขันทำนา

“ปกติเป็นคนชอบเที่ยวแบบโหดๆ อยู่แล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มาดำนา ดิฉันเองก็มีที่นาให้คนปลูก แต่ไม่เคยลงดำนาเอง สาเหตุที่ตัดสินใจมาครั้งนี้เพราะเห็นว่าเป็นโครงการ ที่ดี เป็นเรื่องช่วยชาติ ความจริงตอนลงไปดำนาไม่รู้สึกเหนื่อย แต่พอสวมรองเท้าบู๊ตทำให้ถูกดินดูด ซึ่งก่อนลงดำเกษตรกรก็เตือนแล้ว แต่อยากลองดูว่าจะดูดอย่างไร ความจริงดำนาแบบเท้าเปล่าดีกว่า” เจ้เล้ง กล่าว

การมาร่วมงานของเจ้เล้งสร้างความดีอกดีใจให้กับคนในพื้นที่เป็นอย่างมากเพราะหากจุดไหนมีแม่ค้าพ่อค้ามาขายของ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เธอจะเหมาเกือบหมด ประเภทต้องขนกลับเกือบสิบลัง ไม่ว่าจะเป็นเสื่อ ถั่วคั่ว แหนม และน้อยหน่า ฯลฯ ซึ่งเจ้เล้งอธิบายเหตุผลที่ซื้อของเยอะแยะว่า ช่วยซื้อสินค้าของชาวบ้านเพราะทำให้นึกถึงวันเดิมๆ ที่เคยขายของ ขายได้กำไรนิดหน่อยก็ดีใจแล้ว เลยอยากจะช่วยเหลือ

งาน “ร่วมลงขัน ชวนกันไปทำนา จากเมืองสู่ท้องทุ่ง” ครั้งนี้ มีนักธุรกิจจาก กทม.มากันกว่า 20 คน และบางรายนำลูกหลานมาด้วย

ชลสิทธิ์ ลิขิตพฤกษ์ไพศาล อายุ 16 ปี ซึ่งมากับคุณแม่ ถ่ายทอดประสบการณ์การดำนาให้ฟังว่า เพิ่งเคยดำเป็นครั้งแรก โดยมีเกษตรกรช่วยแนะนำวิธีการถือต้นข้าวและวิธีปลูก ช่วงปลูกนั้นได้คิดว่าขนาดดำแค่ไม่เท่าไหร่ยังปลูกข้าวได้แค่นิดเดียว แต่สำหรับชาวนาที่ต้องปลูกข้าวเยอะๆ น่าจะเหนื่อยมากกว่า มองว่าโครงการนี้ดี เพราะทำให้ได้สัมผัสชีวิตชาวบ้าน ได้เรียนรู้วิธีปลูกข้าว

ภัทรานิษฐ์ ลาภชีวะสิทธิฉัตร หรือ ซิน ลูกสาวที่ติดตาม “เจ้เล้ง” มาร่วมดำนา เผยว่า เพิ่งมาดำนาครั้งแรก สนุกดี ดำไม่ยาก แค่เอานิ้วโป้งปักต้นข้าวแล้วกดลงไปในดิน ตอนปักต้นข้าวลงดินคิดว่าไม่ยาก แต่มาคิดอีกทีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยถ้าดำเยอะๆ เหมือนที่พูดกันว่าหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน

ทีนี้ลองมาฟังเกษตรกรตัวจริงเสียงจริงกันบ้าง

นางลัดดา พันธ์ศรี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์และข้าวอินทรีย์บ้านคำครตากล่าวว่า โครงการนี้ดีทำให้ชาวนามีตลาดรองรับ และขายข้าวได้ในราคาดี ขณะที่นักธุรกิจที่ไม่มีที่นาก็ได้กินข้าวปลอดภัย ซึ่งนักธุรกิจที่มาร่วมลงขันและร่วมลงนามกับชาวนา จะได้รับข้าวอินทรีย์คนละ 60 ก.ก. เป็นข้าวหอมมะลิที่หอมและรสชาติดี นอกจากนี้ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ผวจ.ยโสธร ยังช่วยหาลูกค้าให้ด้วย

โครงการดีๆ แบบนี้เชื่อว่าจังหวัดอื่นๆ จะนำไปทำบ้างย่อมไม่ผิดกติกา ขณะที่ยโสธรประกาศเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ เพราะทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันหมด ไม่ว่าจะเป็นชาวนาหรือผู้บริโภค สิ่งสำคัญคือ สิ่งแวดล้อมที่ดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน