เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงส่งเสริมและอนุรักษ์ผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์และได้รับความนิยมไปทั่วโลก

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชิญชมงาน “มหัศจรรย์ผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชินี” ในวันที่ 19-20 ส.ค.นี้ ที่หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยแถลงข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ชั้น 1 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถ.เพชรบุรี กทม.

นพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่ากิจกรรมภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการแสดงผ้าไทยจากทุกภูมิภาค ร่วมกับนิทรรศการแหล่งท่องเที่ยวเส้นทางผ้าไทย พร้อมเชิญชวนเลือกซื้อผ้าไทยจากชุมชนผู้ผลิตโดยตรง

โดยมีกิจกรรมไฮไลต์ ได้แก่ การแสดงแฟชั่นโชว์ในวันที่ 19 ส.ค. เวลา 19.00 น. พบแฟชั่นโชว์สุดตระการตาจาก 5 ดีไซเนอร์ชั้นนำ ได้แก่ ห้องเสื้อ เธียเตอร์ (Theatre) โดย ศิริชัย ทหรานนท์ สร้างสรรค์แฟชั่นจากผ้าทอลาวครั่ง จ.สุพรรณบุรี, ห้องเสื้อ วทานิกา (Vatanika) โดย วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา นำผ้าทอมือจากหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ มาตัดเย็บเสื้อผ้าในสไตล์เก๋, แบรนด์ อัญชวิกา (Anchavika) โดย อัญชลี วิกสิตนาคกุล อวดฝีมือการดีไซน์ชุดจากผ้าทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง, แบรนด์ดิษยา (Disaya) โดย ดิษยา สรไกรกิตติกุล กับชุดสวยด้วยผ้าทอสันกำแพง และแฟชั่นผ้าย้อมคราม จ.สกลนคร จาก คณาพจน์ (Kanapot) โดย คณาพจน์ อุ่นศร

ศิริชัยกล่าวว่าเธียเตอร์แบรนด์ใช้ผ้าทอลาวครั่งจาก จ.สุพรรณบุรี นำมาตัดเย็บ เป็นผ้าที่มีสีสันเฉพาะตัว เป็นผ้าชิ้นเล็กๆ ความยาวเมตรกว่าๆ เวลาออกแบบต้องใช้ผ้าอื่นๆ มาผสมผสานกัน สามารถประยุกต์ความเป็นไทยได้อย่างลงตัวและสวยงาม

ด้านดิษยาเผยว่าได้รับผ้าทอสันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นผ้าที่มีลวดลายและสีสันสดใส เห็นแล้วชอบตั้งแต่ครั้งแรก สิ่งแรกที่นึกอยากทำคือสูท นำมาผสมผสานกับเดรสสไตล์ผู้หญิง

ขณะที่อัญชลีกล่าวว่า ผ้าไทยไม่ได้ตัดเย็บหรือออกแบบยากอย่างที่คิด ผ้าไทยอยู่ได้กับเสื้อผ้าในทุกสไตล์ ดีไซน์ได้หลายรูปแบบ โดยเฉพาะผ้าทอมือจากหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับมาตัดเย็บในครั้งนี้ มีความสวยงาม เป็นผ้าทอมือที่มีลวดลายละเอียด เห็นแล้วรู้สึกรักผ้านี้และตั้งใจจะนำมาตัดเย็บในคอลเล็กชั่นของตนเอง

ส่วนคณาพจน์กล่าวว่า จากที่ได้ไปหาข้อมูลผ้าย้อมคราม จ.สกล นคร ทำให้ทราบว่าเป็นผ้าที่มีกรรมวิธีการผลิตที่น่าสนใจ สีของผ้ามาจากต้นครามซึ่งชาวบ้านปลูกกันเอง เห็นครั้งแรกทำให้นึกถึงยีนส์ ตั้งใจจะออกแบบในรูปของสตรีตแวร์

นอกจากนี้ยังเปิดเวทีให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่จาก 5 สถาบันการศึกษาแสดงฝีไม้ลายมือดีไซน์เสื้อผ้าจากผ้าทอของท้องถิ่นต่างๆ นำมาร่วมแสดงแฟชั่นโชว์ด้วย ได้แก่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผ้ากาบบัว จ.อุบล ราชธานี, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผ้าไหมบ้านครัว กรุงเทพ มหานคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา ผ้าไหมชุมพรเขาทะลุ จ.ชุมพร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผ้าขิด จ.มหาสารคาม และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ้าจกแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน