“กนกวรรณ อำไพ”

เราไม่อาจรู้เลยว่าอาหารที่บริโภคในแต่ละวันนั้นมีขั้นตอนกระบวนการผลิตอย่างไร ปลอดภัยเพียงใด ยิ่งนับวันประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการทางด้านอาหารก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

การผลิตอาหารหลายชนิดจึงต้องแข่งขันกับเวลาปลูกพืชแบบผิดธรรมชาติ เพื่อให้ได้มาในปริมาณมากๆ เพียงพอสำหรับการบริโภค โดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อผู้บริโภค รวมถึงสิ่งแวดล้อม

การดูแลสุขภาพในปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น แต่รวมไปถึงการคำนึงถึงแหล่งที่มาของอาหาร รับรู้ถึงความใส่ใจของผู้ผลิต พิถีพิถันเลือกซื้อ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงจากภายใน

คงจะดีไม่น้อยหากคนปลูกกับคนกินรู้จักกัน คนปลูกก็รู้ว่าปลูกให้ใครกิน คนกินก็รู้ว่าใครเป็นคนปลูก ปลูกอะไร ปลูกแบบไหน มาเยี่ยมเยียน ถามไถ่กันทุกปี มีจุดยืนร่วมกันคือต้องการส่งรับและแบ่งปันอาหารปลอดภัย ส่งเสริมสนับสนุนวิถีการผลิตแบบอินทรีย์

ที่กล่าวมานั้นก็คือ “โครงการผักประสานใจ” ซึ่งผู้บริโภครับผลผลิตประเภทผักอินทรีย์เป็นหลักโดยตรงจากเกษตรกร เรียกว่าระบบ CSA (Community Supported Agriculture) หรือระบบเกษตรกรรมที่เกื้อกูลโดยชุมชน อีกหนึ่งทางเลือกในการเข้าถึงอาหารปลอดภัย

น้องกะทิ ด.ญ.ศศรัช ศรีทอง แห่งไร่แผ่นดินสีทองออร์แกนิคฟาร์ม จ.สุพรรณบุรี เดินทางมาที่บ้านป่าคู้ล่าง อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี แวะเวียนมาช่วยพี่ป้าน้าอาเก็บผัก ล้างผัก และแพ็กผักลงกล่องอยู่เป็นประจำ ครอบครัวของกะทิมาเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนองค์ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ที่บ้านป่าคู้ล่างแห่งนี้มานานกว่า 15 ปีแล้ว

“ผักที่บ้านป่าคู้ล่างมีหลายชนิดมากค่ะ มีกวางตุ้ง ผัดกาดขาว หัวไชเท้า มะระจีน ผักปรัง ชะอม สลัด แล้วก็แครอต บางชนิดอาจจะไม่ได้ใหญ่มาก มีตำหนิอยู่บ้าง แต่อร่อยค่ะ เพราะว่าเขาปลูกกัน แบบอินทรีย์ ไม่มีสารเคมีเลยค่ะ” น้องกะทิเล่าถึงแปลงผักอินทรีย์กลางหุบเขา

บ้านป่าคู้ล่าง ชุมชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ ปลูกข้าวไร่ ทำการเกษตรแบบเป็นมิตรต่อดิน น้ำ และสภาพแวดล้อมมาเนิ่นนาน ทุกวันอาทิตย์และวันพุธ เกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตผักอินทรีย์จะรวมตัวกันเก็บผลผลิตพืชผัก รวบรวม จัดส่งผักอินทรีย์สดๆ ถึงมือสมาชิกผู้บริโภคโดยตรงทุกสัปดาห์

ปัญญา งามยิ่ง หรือ อาปัญญา ของกะทิ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตผักอินทรีย์บ้านป่าคู้ล่าง เล่าว่า “ปลูกผักแบบอินทรีย์ก็ต้องดูว่าผักตัวไหนเหมาะสมกับฤดูกาล อากาศแบบไหน อย่างฤดูฝนผักใบก็จะไม่ดีนัก ต้องเน้นพวกผักพื้นบ้าน พวกมะเขือ บวบ กระเจี๊ยบเขียว เพราะข้อดีของผักพื้นบ้านคือแข็งแรง ทนโรค ทนแมลง ปรับตัวได้ดี”

กลุ่มเกษตรกรจะเป็นคนจัดสรรพืชผักตามความเหมาะสม สมาชิก ผู้บริโภคจึงได้รับผักหน้าตาหลากหลาย ทั้งผักเศรษฐกิจและผัก พื้นบ้านตามฤดูกาลที่หาซื้อได้ยากตามตลาดทั่วไป เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับสมาชิกในครอบครัวผู้บริโภคได้รู้จักผักพื้นบ้าน หลากหลายชนิด ผักดีๆ ที่มาจากความตั้งใจดีของผู้ผลิตจึงถูกส่งต่อมายังคนในเมืองไม่เคยขาด

กะทิบอกว่า “คนปลูก คนทำมีความสุข คนที่ได้รับผักที่บ้านป่า คู้ล่างไปกินแล้วจะมีความสุขเหมือนกันค่ะ ได้สุขภาพดี แข็งแรงไปพร้อมๆ กัน อยากให้ลองมาเที่ยวที่บ้านป่า คู้ล่างนะคะ อากาศ เย็นสบาย ผู้คนที่นี่ใจดีด้วยค่ะ”

พืชผักอินทรีย์ผ่านการดูแลใส่ใจอย่างดีตั้งแต่วันแรกที่เริ่มปลูก แบ่งปันความสุขใจ ให้ผู้บริโภคไปกับกล่องผัก พืชผักหลากหลายชนิดที่ทรงคุณค่า เป็นทั้งอาหารและยา อีกทั้งยังช่วยสานใจคนปลูกและคนกินให้เกื้อกูล ดูแลชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

พบกับเรื่องราวดีๆ ของผักอินทรีย์ที่บ้านป่าคู้ล่าง อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี ตามเด็กหญิงกะทิแห่งไร่แผ่นดินสีทองไปเก็บผัก กลางหุบเขา และไปชมเส้นทางการผลิตที่ปลอดภัยต่อทุกชีวิต ในทุ่งแสงตะวัน ตอน ผักสานใจ วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม เวลา 06.25 น. ทางช่อง 3 ช่อง 33 และช่อง 13 family ร่วมแลกเปลี่ยนได้ทาง เฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน