5 ศิลปินและนักออกแบบชั้นนำระดับประเทศ จิตต์สิงห์ สมบุญ, พลัฏฐ์ พลาฎิ, เอก ทองประเสริฐ, ผศ.ศีมาศ ประทีปะวณิช และ ผศ.ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ ร่วมแสดงผลงานการออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้าจากผ้าไทยชนิดต่างๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจเปิดมุมมองโลกของการออกแบบผ้าไทยหรือการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตคนยุคปัจจุบัน

จิตต์สิงห์ สมบุญ หัวหน้าฝ่ายออกแบบ บริษัทเกรฮาวด์ ดีไซเนอร์ระดับโลก เจ้าของผลงานศิลปะ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 “พ่อพิมพ์ของชนชาวไทย-แม่พิมพ์ของชนชาวไทย” ขนาด 120X100 ซ.ม. เทคนิคสีอะครีลิกบนผ้าไหมทอยก กล่าวว่า “ผมต้องการนำผ้าไหมมาสร้างผลงานให้นอกเหนือไปจากการใช้งานปกติในรูปแบบจิตรกรรมร่วมสมัยเพื่อสร้างต้นแบบให้คนรุ่นต่อไป”

ด้านพลัฏฐ์ พลาฎิ ดีไซเนอร์ชื่อดังได้รับรางวัลระดับโลก มาพร้อมผลงานชื่อ I Smell You On My Skin : The Living Traidition เพื่อสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อการอนุรักษ์ผ้าไหมไทย เผยว่า “นำผืนผ้าที่เป็นรากเหง้าแห่งภูมิปัญญาชนบทจากศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ สู่การออกแบบในรูปแบบสากล ผลงานชุดนี้เผยแพร่ในนิตยสาร VOGUE จากผ้าไหมมัดหมี่ย้อมครามอุดรธานี”

เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์และ นักออกแบบระดับโลก เจ้าของแบรนด์ EK Thongprasert ออกแบบเสื้อผ้าผู้ชายจากผ้าไทย ในชื่อ “การทักทายของบทสนทนาที่สาบสูญ” เผยว่า “ผมเลือกใช้ไหมแต้มหมี่ จากกลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จ.ขอนแก่น กับเสื้อผ้าส่วนตัวของผมเอง โดยการจำแลงแปลงกายผ้าไหมแต้มหมี่อันงดงามและบริสุทธิ์ให้มีรูปแบบร่วมสมัย”

ผศ.ศีมาศ ประทีปะวณิช อาจารย์พิเศษด้านการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นำเสนอผลงานเสื้อผ้าสตรีจากผ้าไหม ผ้าเปลือกไหมและผ้าฝ้ายทอมือของไทย ในชื่อ “Urban Wrapping” โดยกล่าวว่า “นำของขวัญผ้าไหว้และการนุ่งผ้าไทยแบบผสมผสานมาประยุกต์ด้วยวิธีการสร้างแบบตัดให้เป็นเสื้อผ้าสตรีร่วมสมัยสำหรับคนเมือง โดยใช้โครงร่างเงาที่เรียบง่าย เล่นสีสันและลวดลายของผ้าทั้งในแบบกลมกลืนและขัดแย้งกัน รวมทั้งนำลูกเล่นของการนุ่งผ้าเกี้ยวการใส่ผ้าถุง นุ่งผ้าซิ่น การป้ายผ้า การจับจีบมาผสมผสานลงในผลงาน”

ปิดท้ายที่ ผศ.ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ นักออกแบบ ผู้เชี่ยว ชาญด้านผ้าไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว บอกเล่าถึงผลงานการแสดงชุดผ้าซิ่นม่านมุกจุมออน : การประยุกต์สิ่งทอทางวัฒนธรรม ว่า จุมออนมีความหมายว่าความสว่างและสดใส ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบประยุกต์จากผ้าซิ่นม่านโบราณ โดยคงลักษณะสุนทรียะทางความงามแบบซิ่นเมืองน่านตามจารีต ซึ่งถือเป็นซิ่นที่มีโครงสร้าง สัดส่วน เทคนิคและลวดลายการทอที่งดงาม

สนใจเข้าชมนิทรรศการได้ที่หอนิทรรศการ g23 ชั้น 3 อาคารนวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มศว ประสานมิตร ถนนสุขุมวิท 23 ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 11.00- 18.00 น. วันนี้-31 ส.ค. ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน