สำหรับการชุมนุมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ย.) เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์นั้น มีการคาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 5 หมื่นคน

ซึ่งในการชุมนุมครั้งนี้ทั้งผู้จัด และผู้ชุมนุมหลายคนนั้นเป็น “หน้าใหม่หัดม็อบ” ซึ่งอาจจะมีข้อสงสัยต่างๆ มากมาย วันนี้แอดก็ขอมาแนะนำวิธี “ไปม็อบอย่างไรให้ปลอดภัย” กับทั้งตัวเอง และผู้อื่น

ชุมนุมยังไงไม่ให้ผิดกฎหมาย
– จัดชุมนุมสาธารณะ ต้องแจ้งล่วงก่อนหน้า 24 ชั่วโมง
– พื้นที่หวงห้าม อยากชุมนุมต้องมีระยะ ทำเนียบ-สภา-ศาล ห่าง 50 เมตร
– หน่วยงานรัฐ-โรงพยาบาล-สถานศึกษา ชุมนุมได้แต่ห้ามรบกวนการปฏิบัติหน้าที่
– การชุมนุมต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ
– ผู้ชุมนุมห้ามพกพาอาวุธ อำพรางตัว ก่อกวนหรือก่อเหตุร้าย
– ตำรวจมีหน้าที่รับแจ้งชุมนุม อำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัย
– เมื่อชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมายตำรวจมีหน้าที่ ‘เจรจา’ กับผู้ชุมนุมก่อน
– ตำรวจมีอำนาจ ‘จับกุม-ค้น-ยึด’ เมื่อศาลเป็นคนสั่งให้เลิกการชุมนุม
– การชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีโทษตั้งแต่ปรับยันจำคุก
ใครไปชุมนุมไปได้บ้าง?
ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” ซึ่งคำว่า “บุคคล” หากตีความกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 15 กำหนดไว้ว่า สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย

หมายความว่าประชาชนทุกคน มีเสรีภาพในการชุมนุมได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องจะชาย จะหญิง จะสูงอายุ หรือแม้แต่เด็กอายุแม้ไม่ถึง 18 ปี ก็สามารถร่วมชุมนุมได้

สิ่งที่ควรเตรียมไป

บัตรประชาชน
ตามที่กฎหมายได้กำหนดให้ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ต้องพกบัตรประชาชนติดตัวตลอดเวลา หาก “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” ตรวจพบว่าไม่พกบัตรประชาชน สามารถเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายได้ 200 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานตรวจบัตร ต้องมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป ส่วนตำรวจชั้นประทวนจะขอดูบัตรประชาชนได้ต้องอยู่ที่ด่านตรวจที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

ซึ่งเมื่อเราสามารถขอดูบัตรประจำตัวตำรวจได้ว่าเป็นตำรวจจริง และมียศระดับร้อยตำรวจตรีขึ้นไปหรือไม่โดยเฉพาะตำรวจนอกเครื่องแบบ และสามารถสอบถามได้ด้วยว่ามีเหตุอันใดจึงมาขอตรวจบัตร

แม้ว่าตำรวจจะสามารถตรวจบัตรได้ แต่ก็ไม่สามารถถ่ายรูป และยึดบัตรประชาชนไว้กับตำรวจได้เนื่องจากบัตรประชาชนนั้นถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเรา

และตำรวจไม่สามารถขอเลขบัตรประชาชน โดยอ้างเหตุเพื่อคัดกรองโรค เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

สวมหน้ากากอนามัย
แม้ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯมาตรา 16 (2) กำหนดห้ามการปิดบังหรืออําพรางตนโดยจงใจมิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง เว้นแต่เป็นการแต่งกาย ตามปกติประเพณี
แต่การสวมหน้ากากอนามัยนั้นเป็นเหตุผลด้านสุขอนามัยจึงไม่มีความผิด เพราะผู้สวมใส่ไม่ได้มีเจตนาปิดบังอำพรางตัวเอง

สวมชุดที่คล่องตัวที่สุด
สวมเสื้อแขนยาวที่ปกปิดตัวได้หมด ไม่โดดเด่น ,สวมกางเกงที่วิ่งได้สะดวก แนะนำเป็นขายาวจะดีที่สุด และสวมรองเท้าผ้าใบ เพื่อการเคลื่อนไหวที่สะดวก

เครื่องประดับ
ไม่ควรสวมใส่ เพราะอาจหล่นหาย หรือโดนขโมย ในกรณีชุลมุนอาจก่อให้เกิดบาดแผลแก่ตนเอง

ทรงผม
ควรมัดรวบเก็บให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม สวมหมวกกันแดดด้วยจะดีมาก

กระเป๋า
ควรเป็นกระเป๋าสะพายหลังเพื่อความสะดวก พกแต่สิ่งที่จำเป็น น้ำเปล่า อาหารที่ให้พลังงาน เงินสด โทรศัพท์ ทิชชู่ พัด/พัดลมมือถือ เสื้อกันฝน ร่ม ไฟฉาย ถุงพลาสติก และแบตสำรอง

อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
พลาสเตอร์ ผ้าก๊อซ เบตาดีน ยาประจำตัว เจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์ ผ้าอนามัย

ป้ายประท้วง และอุปกรณ์ประท้วง

ตำรวจสั่งห้ามถือป้ายไม่ได้ กำกับเนื้อหาไม่ได้ หากแผ่นป้ายใดเข้าข่ายความผิดอาจดำเนินคดีเป็นรายไป

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

แก๊สน้ำตา

– หลีกเลี่ยงออกไปอยู่พื้นที่ที่ไม่มีควันแก๊สน้ำตา เพื่อป้องกันการสูดดมซ้ำ-

– รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือในปริมาณมากๆ ทันที

– ปล่อยน้ำให้ไหลผ่านดวงตาเบาๆ นานสักระยะเพื่อให้นำล้างแก๊สน้ำตาออกให้หมด

– หลังจากล้างดวงตาเสร็จแล้วให้ล้างใบหน้า มือ ขา ขา ด้วยสบู่ หรือน้ำเปล่าก็ได้ แต่สบู่จะช่วยชะล้างแก๊สน้ำตาได้ดีกว่าน้ำเปล่า

– ควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีการใช้แก๊สน้ำตา

โดนยิง

– เมื่อได้ยินเสียงปืน หมอบต่ำกับพื้น หาทิศทางของเสียง แล้วรีบคลานหลบเข้าที่กำบังที่แข็งแรง

– หากคนเจ็บยังอยู่ในที่โล่ง ให้รีบพาคนเจ็บเข้าที่กำบัง ในเคสที่ถูกยิง มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องแนวกระดูกสันหลัง สามารถใช้วิถีการลากเข้าที่กำบังได้

– รีบทำการห้ามเลือดให้ได้ หากเป็นบาดแผลที่แขนขา ให้รีบใช้ผ้าสะอาด กดที่แผลให้แน่น หากผ้าชุ่มเลือด ไม่ต้องแกะออก เอาอันใหม่กดทับไปเลย ส่วนถ้าถูกยิงที่ท้อง หรือหัว ก็ใช้การกดห้ามเลือดเช่นเดียวกัน

โดนฟัน

– ห้ามเลือดด้วยการกดแผลด้วยนิ้วหรือผ้าสะอาด บีบให้ปากแผลติดกันเท่าที่ทำได้

– หากปากแผลไม่สามารถบีบให้ชิดกันได้ และปากแผลไม่เรียบ ขรุขระ แหว่ง หรือเป็นรูโหว่ ให้หาผ้าสะอาดขยุ้มกดลงบนบาดแผล แล้วนำผ้าสามเหลี่ยมพันทับ พันอีกรอบด้วยผ้ายืด

– หากอวัยวะถูกตัดขาดออกมา ให้เก็บชิ้นส่วนนั้นไว้ในถุงพลาสติก หรือซิปล็อก อย่าให้น้ำเข้า แล้วรีบแช่ในถังน้ำแข็ง นำส่งโรงพยาบาลพร้อมผู้ป่วย

โดนแทง

– ห้ามดึงมีดออก ถ้าไม้ที่แทงเข้าลำตัวยาวมากอาจตัดให้สั้นได้ โดยไม่ให้สะเทือนแผลมาก (ถ้าสะเทือนมาก ไม่ต้องตัด)

– ตรึงมีด ไว้กับลำตัวให้แน่นเพื่อความปลอดภัยในการเคลื่อนย้าย

– ให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งๆ เคลื่อนย้ายด้วยความระมัดระวัง และรีบนำส่งโรงพยาบาล

โดนไฟไหม้ หรือของร้อน

– รีบตัด หรือฉีกเสื้อผ้าบริเวณแผลออก ถอดเครื่องประดับ

– เปิดน้ำเย็นให้ไหลผ่านบาดแผล

– ทายาที่ใช้รักษาบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกโดยเฉพาะ

– ปิดบาดแผลด้วยผ้าสะอาด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

โดนระเบิด

– ห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด ใช้ผ้าสะอาดปิดแผล แล้วพันบริเวณเหนือแผลให้แน่นป้องกันเลือดออก ควรเป็นผ้าแผ่นกว้างๆ เช่น ผ้ายืด ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัด เพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้

– เอาสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น ใส่ในกระติกน้ำแข็ง ถุงพลาสติกใหญ่ใส่น้ำแข็ง

– สังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ถ้าเสียเลือดมากให้นอนพัก รีบนำส่งโรงพยาบาล ควรงดอาหารทางปาก จิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน การเก็บรักษาส่วนที่ขาด

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

– ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ กับคนแปลกหน้า

– อย่าไปไหนคนเดียวพกเพื่อนไปด้วย

– ไม่เข้า wifi สาธารณะ

– ปิด GPS ไม่โพสเฟสบุ๊ก และแชร์โลเคชั่นเป็นสาธารณะ

– ใส่ล็อค และใส่รหัสความปลอดภัยในโทรศัพท์

– ห้ามถ่ายหน้าผู้ชุมนุมคนอื่นเด็ดขาด

– ถ้าจะโดนจับให้วิ่ง ไปที่ที่คนเยอะ ตะโกนหาคนช่วย อย่าไปที่ที่ไม่มีคน

และสุดท้ายสำหรับใครที่จะไปร่วมชุมนุมในวันที่ 19 กันยายนนี้ ก็อย่าลืมดูแลตัวเอง และคนรอบข้างกันด้วยนะ ด้วยความเป็นห่วงจากทีมข่าวสด

อิงอิงจาก : iLAW ,The momentum , พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน