“ดำรงพล พาชื่น”

“แซนโฎนตา” อีกประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญ ชาวสุรินทร์ รวมถึงอีกหลายพื้นที่แถบอีสานใต้ ปฏิบัติสืบทอดกันมายาว นาน เป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ความรัก ความผูกพันของสมาชิกในครอบครัว เครือญาติ รวมถึงชุมชนต่างๆ

โดยประกอบพิธีกรรมตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี และปีนี้ตรงกับวันที่ 19 ก.ย.

นอกจากกระชับความสัมพันธ์ของผู้คนระหว่างเครือญาติ ระลึกนึกถึงกันระหว่าง คนในครอบครัว กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และที่ยังมีชีวิตอยู่

ถือเป็น “วันรวมญาติ” ลูกหลาน ที่จากบ้านไปทำงานต่างพื้นที่ จะหยุดงานกลับมาบ้าน ตระเตรียมข้าวปลาอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

ปีนี้ อบจ.สุรินทร์ ร่วมกับจังหวัด เทศบาลเมืองสุรินทร์ สำนักงานวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่างๆ ใน จ.สุรินทร์ จัดงานประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ ประจำปี 2560 ในวันที่ 18 ก.ย. ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง และบริเวณเวทีไผทสราญ อ.เมืองสุรินทร์

เป็นการจัดก่อนวันจริง 1 วัน เริ่มเวลา 09.00 น. ชมการแสดงนิทรรศการมีชีวิต แสดงประวัติความเป็นมาของประเพณีแซนโฎนตา และชมการสาธิตการทำขนมพื้นเมือง กิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และกิจกรรมการแข่งขันขูดมะพร้าว

ช่วงบ่ายชมขบวนแห่แซนโฎนตา บูชาบรรพบุรุษ ขบวนแห่ กระเชอโฎนตา เครื่องจูนโฎนตา จากบริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะหนึ่งเดียว จากชุมชน คุ้มวัด สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในจังหวัดสุรินทร์

และร่วมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม พื้นบ้าน พร้อมชมกิจกรรม การจูนโฎนตา จะเป็นการนำเครื่องจูน (เครื่องส่ง) จากขบวนแห่ของแต่ละชุมชน คุ้มวัด และโรงเรียน มาจูน ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และผู้อาวุโสของจังหวัดสุรินทร์

ต่อด้วยกิจกรรมการแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ ด้วยเครื่องแซน โฎนตาที่ยิ่งใหญ่ หน้าอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง โดยผู้อาวุโสในจังหวัดที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือเป็นประธานในพิธี เพื่อบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ณ บริเวณปะรำพิธีอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง

สำหรับคำว่า “แซนโฎนตา” เป็นภาษาเขมร โดยคำว่า “แซน” หมายถึงการเซ่นไหว้ การบวงสรวง “โฎน” หมายถึง ยาย หรือย่าและตา หมายถึงตา หรือปู่

ดังนั้น “โฎนตา” หมายถึงยาย ย่า ตาและปู่ การทำบุญให้ปู่ย่าตายาย หรือบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว

สำหรับเครื่องเซ่นไหว้ การเซ่นไหว้ศาล ปู่ตาประจำหมู่บ้าน การเซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน การประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตา ที่บ้าน การประกอบพิธีกรรมบายเบ็ญ (เครื่องเซ่นไหว้) การประกอบพิธีกรรมที่วัด

ประกอบด้วย ปลานึ่ง ปลาย่าง หมูย่าง ไก่ย่าง แกง วุ้นเส้น แกงกล้วย ต้มยำไก่ ลาบหมู ไก่นึ่ง ต้องเป็นไก่ทั้งตัวเอา เครื่องในออก

อาหารหวาน ได้แก่ ข้าวต้มมัด ใบมะพร้าว ขนมเทียน ขนมนางเล็ด ขนมโชค หรือขนมดอกบัว ขนมโกรด ข้าวกระยาสารท

ผลไม้นิยมมะพร้าวอ่อน กล้วย ส้ม ละมุด พุทรา องุ่น เป็นต้น และเครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำเปล่า เหล้าขาว น้ำอัดลม เหล้าสีต่างๆ เป็นต้น

อุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ เสื่อหวาย ที่นอนแบบพับ หมอน ผ้าขาว ผ้าไหม ผ้าโสร่ง อาภรณ์ต่างๆ พาน ธูป เทียน กรวย 5 ช่อ ที่ทำจากใบตองสดม้วนเป็นกรวย แล้วสอดด้วย ธูป และใบกรุย การจัดกรวย 5 ช่อ คือ ขันธ์ 5 หมายถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เชื่อกันว่าถ้าในยุคของตนได้แซนโฎนตาให้แก่ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ไปแล้ว รุ่นลูกจะต้องแซนโฎนตาให้ตนเองเหมือนกัน เพื่อให้ลูกหลานปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันไปไม่สิ้นสุด

ถ้าญาติ หรือลูกหลานประกอบพิธีแซน โฎนตา และทำบุญอุทิศให้ ก็จะอวยพรให้ญาติ หรือลูกหลานมีความสุขความเจริญ ประกอบอาชีพประสบผลสำเร็จมีเงินมีทองใช้ แต่ถ้าไม่ทำพิธีแซนโฎนตา ก็จะโกรธและสาปแช่งไม่ให้มีความสุขความเจริญ ประกอบอาชีพ ฝืดเคือง ไม่ราบรื่น

นายกิติเมศวร์ รุ่งธนเกียรติ นายก อบจ.สุรินทร์ กล่าวว่า การจัดงานประเพณีแซน โฎนตา จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณและบรรพบุรุษ

อีกทั้งทำให้ จ.สุรินทร์ เป็นที่รู้จักใน อีกทางหนึ่งผ่านการจัดกิจกรรมประเพณีของท้องถิ่น จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวน พี่น้อง ประชาชนชาวสุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียง ร่วมชมขบวนแห่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น หาชมที่ไหนไม่ได้ และ 1 ปี มีเพียงครั้งเดียวในงานประเพณีแซนโฎนตา บูชาบรรพบุรุษ ประจำปี 2560 ในวันจันทร์ ที่ 18 ก.ย.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน