“สวิตรา ดวงประทีป”

ออสเตรเลียมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า รวมถึงด้านวัฒนธรรม ทั้งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2495

โอกาสครบรอบ 65 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลียที่จะถึงนี้ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดโดยโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในออสเตรเลียจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 28 ส.ค.-3 ก.ย.2560 นครซิดนีย์ และนครบริสเบน

ในส่วนค่ำคืนแสนพิเศษวันที่ 28 ส.ค. ภายในโอเปร่าเฮาส์ นครซิดนีย์ มีการแสดงโขนรามเกียรติ์เฉลิม พระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ชุดรามาวตาร 4 ตอนนารายณ์ปราบ นนทุก ตอนลักสีดา ตอนหนุมานถวายพลยกรบ และตอนพระรามครองเมือง

ถ่ายทอดโดยคณะนักแสดงและนักดนตรีมากฝีมือ จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร 56 ชีวิต ร่ายรำท่วงท่าอย่างน่าประทับใจ และยังจัดพิธีไหว้ครู การบรรยาย การสาธิต และการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีไทย

ภายในงานมีชาวต่างชาติ ทั้งชาวออสเตร เลียและผู้คนจากนานาประเทศ รวมไปถึงชาวไทยที่อาศัยในนครซิดนีย์ และเมืองใกล้เคียงเข้าชมการแสดงและชมนิทรรศการเฉลิม พระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 แบ่งเป็นการนำเสนอ 10 บอร์ด

บอร์ดที่ 1 พระบรมฉายาลักษณ์พร้อมบทอาศิรวาท

บอร์ดที่ 2 แม่ของแผ่นดินและอัครา ภิรักษศิลปิน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเล็งเห็นว่าศิลปหัตถกรรมไทยกำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา จึงทรงส่งเสริมประชาชนในท้องถิ่นให้อนุรักษ์และส่งเสริมการทอผ้าไหมไทยจนเป็นที่แพร่หลายถึงทุกวันนี้

บอร์ดที่ 3 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 กับการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะการแสดงโขน

บอร์ดที่ 4-5 พัสตราภรณ์ หรือเครื่องแต่งกายโขนที่สมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขึ้นใหม่สำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน

บอร์ดที่ 6 ผ้ายกเนินธัมมัง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ของไทย และได้พระราชทานอาชีพเสริม อาทิ การทอผ้าฝ้าย ปักผ้า สานกระจูด จนเกิดเป็น “ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง” ที่จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ.2537 โดยผ้ายกเนินธัมมังยังนำมาใช้เป็นเครื่องแต่งกายโขนพระราชทาน แทนการใช้ผ้ายกที่ต้องสั่งซื้อจากอินเดีย เพื่อนำมาใช้ในการแสดงโขนในอดีต

บอร์ดที่ 7 งานประณีตศิลป์ เพื่อการสร้างเครื่องประดับตกแต่งการแต่งกายโขน รวมช่างฝีมือ 3 แขนงคือ งานโลหะ งานฝังอัญมณี และ งานกะไหล่ทอง คณะทำงานจัดการแสดงโขนพระราชทานได้ศึกษาค้นคว้า และนำมาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ถนิมพิมพาภรณ์ขึ้นให้เหมาะสมกับพัสตราภรณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ โดยมอบหมายให้ช่างฝีมือจากกาญจนาภิเษกวิทยาลัย (ช่างทองหลวง) เป็นผู้จัดทำ

บอร์ดที่ 8 ศิราภรณ์ เครื่องประดับศีรษะ คณะทำงานจัดการแสดงโขนพระราชทานได้ศึกษางานศิลปกรรม และงานศิลปกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างขึ้นใหม่ให้มีความงดงาม ถูกต้องตามแบบงานศิลปะไทยทุกประการ

บอร์ดที่ 9 หัวโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงได้รื้อฟื้นภูมิปัญญาโบราณเกี่ยวกับการทำกระดาษข่อย ซึ่งมีความแข็งแรงและยืดหยุ่น ได้ดีมาใช้เป็นวัสดุทำหัวโขน

ปัจจุบันศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง และศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สามารถผลิตหัวโขนที่ทำจากกระดาษข่อยเพื่อใช้สำหรับการแสดงโขน

และบอร์ดที่ 10 เทคนิคการแต่งหน้าสำหรับโขนพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ศึกษาค้นคว้าวิธีการแต่งหน้าสำหรับตัวละครโขนที่เปิดหน้าด้วยศิลปะการแต่งหน้าสมัยใหม่

จึงได้มีการศึกษา ค้นคว้า และผสมผสานเทคนิคแบบเก่าและแบบใหม่อย่างลงตัว

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธี กล่าวว่าโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในออสเตรเลียจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 เผยแพร่พระราชกรณียกิจที่ทรงฟื้นฟูและอนุรักษ์การแสดงโขน ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยและหาชมได้ยาก และเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ออสเตรเลีย

“การจัดโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในครั้งนี้ช่วยส่งเสริมเกียรติภูมิ สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะการแสดงโขนที่เป็นนาฏกรรมชั้นสูง ที่มีการอนุรักษ์และสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นมรดกอันทรงคุณค่าของชาติไทยที่มีความงดงามและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ของไทยและออสเตรเลียให้มั่นคงมากขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว เศรษฐกิจและการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ” พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าว

นายวัชรวัน ธนะพัฒน์ ผู้รับบทเป็น ทศกัณฐ์ กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ตนและคณะได้มาแสดงที่ซิดนีย์ โอเปร่า เฮาส์ หลังจากเคยเดินทางโดยส่วนตัวมาประเทศออสเตรเลีย อยู่หลายครั้ง แต่ไม่เคยมาแสดงที่สถานที่ดังกล่าว โดยการแสดงในครั้งนี้ถือเป็นการนำศิลปะการแสดงของประเทศไทยซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมชั้นสูง อีกทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ยังได้ทรงพระกรุณานำชุดโขน ศีรษะโขน ที่ทรงมีพระราชดำริให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอนุรักษ์ ให้นำมาจัดแสดงเพื่อให้ชาวออสเตรเลียได้ชื่นชมถึงความงดงาม

ส่วน นายปรัชญา ชัยเทศ รับบทเป็นพระราม กล่าวว่า ส่วนตัวได้รับโอกาสที่ไปแสดงโขนทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่หลายครั้ง ในส่วนของการแสดงโขนในครั้งนี้ รู้สึกปลื้มใจและเป็นเกียรติได้มาแสดง ณ สถานที่แห่งนี้ ทำให้ชาวต่างประเทศจะได้เห็นวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทย ทั้งยังจะได้ทราบถึงของงดงามและคุณค่าของการแสดง

ภายหลังจากการสิ้นสุดค่ำคืนการแสดงอันแสนพิเศษของการแสดงโขนรามเกียรติ์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ซิดนีย์ โอเปร่าเฮาส์ เรียกเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง จนเชื่อมั่นว่าการแสดงในครั้งนี้จะตรึงใจผู้ชมอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน