“ปฤษณา กองวงค์”

เชียงใหม่ ดินแดนที่ร่ำรวยด้วยอารยธรรมอันหลากหลาย มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงอัตลักษณ์ของตนไว้อย่างแนบแน่น

หนึ่งในนั้นคือกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ที่สืบทอดและรักษาเรื่องเครื่องแต่งกาย และการเขียนเทียนลงบนผืนผ้าที่โดดเด่นทั้งเทคนิคและลวดลาย งานหัตถกรรมที่เปี่ยมด้วยคุณค่าเหล่านี้ เชื่อมร้อยโยงใยวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน

ล่าสุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ Chiang Mai Creative Workshop โครงการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน) จัดกิจกรรม “เส้น สาย ลาย เทียน” Hmong Batik : Doi Pui ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

งานนี้นอกจากความรู้แล้ว ยังมีนิทรรศการและตื่นตาไปกับการอัดจีบกระโปรงของชาวม้ง การปักผ้า และการเขียนเทียน ไม่เท่านั้นผู้สนใจและ เหล่ายังดีไซเนอร์ ลงพื้นที่สัมผัส เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนบ้านม้งดอยปุย จ.เชียงใหม่ และร่วมกันสร้างสรรค์ออกแบบผ้าเขียนเทียน

ผศ.เธียรชาย อักษรดิษฐ์ ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พาย้อนอดีตมารู้จักผ้าเขียนเทียน (Batik) บาติก ที่พบในหลายประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ และไนจีเรีย รวมถึงเครื่องมือในการเขียนเทียน และขี้ผึ้ง (Wax) ที่นำมาใช้ การย้อมติดสีของผ้าที่มีในอียิปต์ ในศตวรรษที่ 4 หรือก่อนคริสต์ศักราช

ส่วนเอเชียเริ่มจากจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ขณะที่แอฟริกาใช้แป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเจ้า หรือโคลน แทนขี้ผึ้ง รวมถึงการสืบ ทอดลวดลายการย้อม และพัฒนาการต่างๆ

“ผ้าเขียนเทียน ของม้งสามารถยกระดับเป็นงานสากลได้โดยง่าย มากกว่าผ้าทออย่างอื่น เพราะเป็นลวดลายเรขาคณิต เป็นกราฟิก ประยุกต์ได้” ผศ.เธียรชายกล่าว

แต่กว่าจะมาเป็นผ้าเขียนเทียนนั้นไม่ง่าย!!

เริ่มตั้งแต่การเตรียมผ้าที่ได้จากเส้นใยเปลือกต้นใยกัญชงแห้ง นำมาฉีกเป็นเส้นเล็กๆ แล้วผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งปั่น กรอ จนกลายเป็นเส้นด้ายทอเป็นผืนผ้า นำไปต้มและตากให้แห้ง จากนั้นนำมารีดเตรียมพร้อมสำหรับการเขียนลวดลาย

การเขียนลวดลายบนผืนผ้าของชาวม้ง หรือที่เรียกว่า “เซากั๋งเจี่ย”เริ่มจากนำขี้ผึ้งมาละลายให้ร้อนและเหลว จากนั้นนำผ้าที่ทอเรียบร้อยมาสร้างตารางรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วนำปากกาเขียนขี้ผึ้ง ซึ่งทำจากแผ่นเหล็กหรือทองเหลืองที่ชาวม้งเรียกว่า “อั่วต้า” หรือ Tjantingไปจุ่มกับขี้ผึ้ง นำมาเขียนบนผ้า เกิดเป็นลวดลายต่างๆ ที่มีพื้นฐานเป็นรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ รวมถึงลวดลายเฉพาะที่ทำขึ้นเพื่อการตกแต่ง

ทั้งนี้เราจะพบลวดลายต่างๆ บนผืนผ้า เช่น ลายดอกฟักทอง ลายเมล็ดแตงกวา ดอกแตงกวา เฟิร์น ภูเขา ตีนแมว หอยทาก และ เหรียญ เป็นต้น

ผ้าที่ผ่านการเขียนลายแล้วนำ ไปแช่น้ำขี้เถ้า เพื่อให้สีติดดีขึ้นในกระบวนการย้อม เรียกว่า “เจ่าเด๊ะ” จะย้อมด้วยฮ่อมหรือครามก็ได้ หลังย้อมนำไปตากในที่อากาศถ่ายเทสะดวก เมื่อผ้าแห้งจึงนำมาต้ม เพื่อลอกขี้ผึ้งออกจากผ้า กลายเป็นผืนผ้าที่มีลวดลายและสีสันสวยงาม

นายไตรภพ แซ่ย่าง วัย 47 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านดอยปุยกล่าวว่า ผืนผ้าเป็นเรื่องของวิถีชีวิต วัฒนธรรมทางสังคม จารีต เราทำเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน อยู่ในมิติของเครื่องแต่งกายและสิ่งของเครื่องใช้ เส้นสายลายเทียนสะท้อนและเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว แม่ พี่ น้อง ลูกสะใภ้

“ตอนที่เราได้รับผ้ามาสวมใส่ จะเห็นถึงความละเอียด ความใส่ใจของผู้ทำ หรือถ้าเราจะแต่งงานกับสาวสักคนก็จะดูที่ผ้าด้วยว่าเย็บเองไหม ทำได้ละเอียดไหม เขาว่าดูนางให้ดูแม่ แต่ดูให้แน่ๆ ให้ดูจนถึงยาย”

นายไตรภพกล่าวติดตลก ก่อนเล่าต่อว่าผู้หญิงที่ออกเรือนจะมีผ้าที่ใช้แบกหรืออุ้มเด็กไว้ด้านหลัง แม่สามีจะมอบให้สะใภ้ ลวดลายเหล่านี้มีความแตกต่างกัน สะท้อนถึงลักษณะตัวบุคคล อารมณ์ ความรู้สึกว่า รัก ชอบ หรือเป็นสะใภ้คนโปรดหรือเปล่า หรือให้เป็นพิธีเท่านั้น

นอกจากนี้ผู้หญิง หรือลูกสะใภ้ ต้องมีผ้าม้วน ยาวไม่ต่ำกว่า 7 เมตร เตรียมไว้ 1-2 ม้วน เพื่อใช้ในพิธีกรรม งานศพของพ่อแม่ ผ้านี้นำมาห่อศพ ผ้าปูรองโลง ผ้าพันน่อง ผ้าที่ห้อยโยงกับตัวบ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรม แต่ผ้าเหล่านี้เป็นผ้าดิบไม่มีลายผ้า

อดีตผู้ใหญ่บ้านม้งดอยปุยกล่าวต่อว่า ลวดลายผืนผ้ามาจากธรรมชาติ เช่น ลายไม้ ลายตีนไก่ ลายก้นหอย ลายดาว เป็นต้น มีลักษณะเป็นเรขาคณิต บอกถึงความซื่อตรง แม้จะทำลายเดียวกันแต่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการปัก การเขียนเทียน น้ำหนักในการดึงเข็ม เส้นดายที่มัด สิ่งที่ทำบ่งบอกความเป็นตัวตนของตนเอง

“แต่ลายที่พบเห็นมักเป็นลายกระโปรง ทำให้มีข้อจำกัดในการสวมใส่ตามความเชื่อ ผู้ชายชาวม้งจะสวมใส่เสื้อผ้าไม่มีลาย จะตัดเสื้อให้มีลาย ต้องเป็นผ้าใหม่ ต้องไม่เป็นลายกระโปรง ดังนั้นลายที่นำมาทำเสื้อจะเป็นลายเฉพาะเท่านั้น พี่น้องดอยปุยเราสืบสานเรื่องผ้า จะหัดทำตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ เราเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ถ้าจะให้เกิดความยั่งยืนต้องสร้างอาชีพ มีรายได้จุนเจือครอบ ครัว โดยอยู่บนพื้นฐานแห่งความภาคภูมิใจ” นายไตรภพกล่าวทิ้งท้าย

ผ้าเขียนเทียนอาศัยทักษะ ฝีมือ ความชำนาญ ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างให้คนเห็นคุณค่า มันจะกลายเป็นของโชว์ และมีเพียงไม่กี่คนที่รู้และเข้าใจถึงคุณค่าและความหมาย

นายธนกร สุธีรศักดิ์ หรือ ไผ่ วัย 22 ปี หนึ่งในยังดีไซเนอร์ ชาวจังหวัดยะลา ที่สนใจเรื่องผ้าเป็นทุนเดิมและที่บ้านเกิดทำบาติก กล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าผ้าเขียนเทียน เส้น ลาย ย่อมมีเอกลักษณ์ โดดเด่น จากลวดลาย เทคนิค กระบวนการที่สะท้อนวิถีชีวิต แต่เราจะทำอย่างไรให้คงอยู่เป็นอาชีพและสืบทอดต่อไปสู่คนรุ่นหลัง ไม่เฉพาะผ้าของชาวม้งแต่อยากให้เป็นทุกกลุ่มชาติพันธุ์ อยากให้ทุกคนหันกลับมามอง ผ้าแต่ละประเภท แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีความหมายและเทคนิคที่แตกต่าง เหมือนผ้าซิ่นตีนจก ผ้าเช็ด ผ้าทอ หรือผ้าม้ง

ดังนั้น การนำลวดลายที่แฝงด้วยความหมายมาใช้ สร้างเป็นเครื่องแต่งกาย ลวดลายบวกความหมาย เช่น ลายผ้าซิ่น ลายนก ถ้าอยู่ซิ่นเป็นของต่ำ แต่ลวดลายของมันมีความหมายบอกเล่าถึงความสมบูรณ์ การนำลายมาใช้ ต้องบวกแนวคิดและดีไซน์ให้งานต่างจากเดิม เพื่อสร้างมูลค่าให้ชิ้นงาน ทำอย่างไรให้ต่างจากของเดิมที่มีอยู่ แต่ยังทรงคุณค่าและความหมาย ตรงนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายนักออกแบบ

ปิดท้ายที่ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่าเดิมการสืบทอดมีเฉพาะในกลุ่ม แต่ทางพ่อหลวงแม่หลวงชาวม้งยินดีมาสอนพวกเราให้ได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นมรดกทางชาติพันธุ์ของเขา คือการเปิดใจอย่างใหญ่หลวง การที่มรดกทางภูมิปัญญาเหล่านี้ยังคงอยู่ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง แต่เราต้องร่วมกัน ผนึกกำลังกายกำลังใจและก้าวต่อไปเพื่อรักษาและสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาของประเทศไทยไว้

เหมือนที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พยายามรักษามาโดยตลอด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน