“เมธี เมืองแก้ว”

อาคารสีฟ้าโดดเด่น มองเห็นได้จากพื้นที่ไกลๆ เพราะตั้งอยู่บนเนินควนคีรี ภายในเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ บนถนนพัทลุง ในเขตเทศบาลนครตรัง ชั้นล่างเป็นคอนกรีต ชั้นบนเป็นไม้ หลังคาทรงปั้นหยา ถือเป็น 1 ใน 20 โบราณสถานที่ใครๆ ต่างรู้จักกันดีว่านั่นคือ จวน หรือ บ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นช่วงเดียวกับศาลากลางจังหวัด เมื่อ พ.ศ.2461 ในสมัยที่ พระยาตรังคภูมาภิบาล (เจิม ปันยารชุน) เป็นพ่อเมืองตรัง ขณะที่บางกระแสอ้างว่าสร้างขึ้นในสมัย พระยาอาณาจักรบริบาล (สมบุญ สวรรคทัต) ระหว่างพ.ศ.2468-2476

จวนผู้ว่าฯ แห่งนี้เคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครั้งเสด็จประพาสจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2502

ล่าสุด นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง บูรณะปรับปรุงจวนผู้ว่าฯ ให้เป็นสถานที่สำคัญอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยว เนื่องจากจะมีอายุครบ 100 ปี ในปี 2561 เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน และะผู้สนใจเข้าไปเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่ 7 โมงเช้าไปจนถึง 2 ทุ่ม โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือเสียค่าใช้จ่ายใดๆ หนึ่งในคณะที่ผู้ว่าฯ พาเที่ยวชมจวนเองคือคณะครูและนักเรียนโรงเรียนตรังคริสเตียนศึกษา

ผู้ว่าฯ ศิริพัฒ เล่าว่าก่อนหน้านี้สภาพจวนชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก เมื่อตนย้ายมาเป็นพ่อเมืองตรังเมื่อ 8 เดือนที่แล้ว จึงเห็นควรเร่งดำเนินการซ่อมแซม เริ่มจากใช้เงินส่วนตัวดำเนินการไปก่อน ต่อมาได้งบฯ ของจังหวัดและงบฯ ของผู้ว่าราชการจังหวัดมาสมทบรวมนับแสนบาทเพื่อทำหลังคาและรางน้ำใหม่ ทาสีทั้งภายนอกภายใน เปลี่ยนพื้นเป็นหินแกรนิตอย่างดี พร้อมปรับหน้าต่างไม้ชั้นบนให้เป็นกระจกใส สามารถชมทิวทัศน์รอบเมืองตรัง เนื่องจากจวนผู้ว่าฯ ตั้งอยู่บนเนินสูง มองเห็นความเจริญของตัวจังหวัดได้ชัดเจน ตามหลัก ฮวงจุ้ยถือว่าเป็นหัวมังกร

สาเหตุที่ทาสีอาคารใหม่เป็นสีฟ้าเนื่องจากเป็น สีประจำจังหวัดตรัง ไม่ใช่สีม่วงซึ่งเป็นสีของดอกศรีตรัง ดอกไม้ประจำจังหวัดตรัง ตามที่หลายคนมักเข้าใจผิด นอกจากนี้ในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ จวนผู้ว่าฯ แห่งนี้ ขณะนั้นอาคารเป็นสีฟ้า จึงเป็นสีเย็นและเป็นสีที่เป็นมิตร เมื่อถ่ายรูปแล้วดูสบายตา พร้อมจัดทำป้ายตัวอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษสำหรับบรรยายภาพสำคัญ สิ่งของมีค่า หรือสถานที่ต่างๆ ภายในจวนผู้ว่าฯ เพื่อความสะดวกของนักท่องเที่ยวในการเยี่ยมชม

นายวรธน เกิดผล หรือ น้องฟิวส์ บอกเล่าว่า ผู้ว่าฯ ตรังพาเข้าชมบริเวณตัวอาคาร ห้องโถงชั้นล่างและชั้นบน ห้องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงประทับแรม ห้องโถงใหญ่ ห้องพระ รวมทั้งงาช้างคู่บ้านคู่เมือง ตู้จัดเก็บภาชนะเสวยพระกระยาหารกลางวันและพระกระยาหารเช้า ตู้จัดวางของเก่า ของโบราณ พร้อมมุมโต๊ะอาหาร โต๊ะรับแขกที่ตกแต่งสวยงาม ขณะที่ภูมิทัศน์ต้นไม้ ดอกไม้รอบๆ ตัวอาคารก็ดูร่มรื่น เหมาะสำหรับการถ่ายภาพเป็นที่ระลึก เคยมีคู่บ่าวสาวขอเข้ามาถ่ายพรีเวดดิ้งด้วย

ด้าน น.ส.นวลกมล สุทธิรักษ์ หรือ น้องแนน เผยว่ารู้สึกประทับใจในความเปลี่ยนแปลงของจวนผู้ว่าฯ ตรังเช่นกัน สิ่งที่เห็นชัดคือการแบ่งพื้นที่สนามหญ้าส่วนหนึ่งมาปลูกทุกอย่างที่กินได้ เช่น พริก ตะไคร้ ผักเหรียง ผักหวาน ใบเตย กะเพรา พริกไทย กล้วย มะเขือ มะกรูด มะนาว มะละกอ รวมทั้งเลี้ยงไก่ไว้กินไข่ สัตว์เลี้ยงที่ให้ความเพลิดเพลินแก่เด็กๆ ทั้งนกและกระต่าย เพื่อให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพราะการทำให้ดูถือเป็นวิธีการสอนประชาชนให้เข้าใจได้ดีที่สุด จนกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งหนึ่งของจังหวัดตรังที่ทุกคนไม่ควรพลาดมาเยือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน