น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

ทําไมจึงเรียกภาพยนตร์ว่า หนัง และที่มาของคำว่า ภาพยนตร์ ใครเป็นคนเรียก

พิมพ์ดาว

ตอบ พิมพ์ดาว

คำตอบนำมาจากข้อเขียนของ โดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ หนึ่งศตวรรษภาพยนตร์ในประเทศ ไทย ว่า ศักราชภาพยนตร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อตระกูลลูมิแอร์แห่งฝรั่งเศสนำประดิษฐกรรมภาพยนตร์ของตนที่เรียกชื่อว่า ซีเนมาโตกราฟ ออกฉายเก็บค่าดูจากสาธารณชนครั้งแรกในโลก ที่กรุงปารีส เมื่อ 28 ธันวาคม พ.ศ.2438 ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากมหาชนอย่างสูง ประดิษฐกรรมภาพยนตร์ชนิดฉายขึ้นจอนี้ จึงแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 2 ปีนับจากวันนั้น

ชาวสยามได้รู้จักและชื่นชมซีเนมาโตกราฟในเวลาอันไล่เลี่ยกับประชาชนตามเมืองสำคัญๆ ทั่วโลกเช่นกัน นักฉายภาพยนตร์เร่คนหนึ่ง นาม เอส. จี. มาร์คอฟสกี นำซีเนมาโตกราฟของชาวฝรั่งเศสเข้ามาจัดฉายเก็บค่าดูจากสาธารณชนชาวสยามเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2440 ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ กรุงเทพฯ

ชาวสยามเรียกมหรสพอย่างใหม่เอี่ยมนี้ว่า “หนังฝรั่ง” เพราะเป็นมหรสพฉายแสงเล่นเงาบนจอผ้าขาว ทำนองเดียวกับหนังใหญ่ หนังตะลุง มหรสพดั้งเดิมที่ชาวสยามรู้จักกันดีอยู่แล้ว

ปี พ.ศ.2440 นับเป็นปีเริ่มต้นศักราชหนังฝรั่งในประเทศไทยโดยแท้ เพราะนอกจากเราจะเริ่มรู้จักหนังฝรั่งแล้ว การถ่ายหนังฝรั่งซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวสยามหรือชาติสยามเป็นครั้งแรกก็เกิดขึ้นในปีนี้ นั่นคือ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในวันที่ 25 พฤษภาคม ได้เสด็จฯ ถึงกรุงเบิร์น เมืองหลวงของสวิตเซอร์แลนด์ ช่างถ่ายหนังฝรั่งคนแรกๆ ของสวิตเซอร์แลนด์ คือ ฟรองซัว-อองรี ลาวานชี-คลาร์ก ได้ถ่ายหนังฝรั่งม้วนแรกของโลกเกี่ยวกับชาวสยาม เป็นม้วนสั้นๆ บันทึกภาพขณะขบวนแห่รถม้าพระที่นั่งนำพระเจ้ากรุงสยามไปในท้องถนน

และครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ ตามเสด็จด้วย มีหน้าที่คอยจัดซื้อสิ่งของแปลกๆ ของประเทศต่างๆ ของแปลกอย่างหนึ่งที่พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ทรงจัดซื้อเข้ามาสยามก็คือ หนังฝรั่ง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นกล้องถ่ายและเครื่องฉายหนังฝรั่งของฝรั่งเศส

ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่า พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ทรงเริ่มทดลองถ่ายทำหนังฝรั่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2440 หรือไม่ จนกระทั่งปี พ.ศ.2443 จึงมีหลักฐานรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันว่า เจ้านายพระองค์นี้ทรงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในกรุงเทพฯ ว่า ทรงเป็นช่างถ่ายหนังฝรั่ง และทรงเป็นผู้จัดฉายหนังฝรั่งเก็บค่าดูจากสาธารณะ ถือว่าทรงเป็นชาวสยามรายแรกที่ทำทั้งสองอย่างนี้ โดยหนังฝรั่งที่ทรงถ่าย เป็นการบันทึกเหตุการณ์พระราชกรณียกิจทั้งส่วนพระองค์และพระราชพิธีต่างๆ ของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าฯ และทรงถ่ายต่อเนื่องไปจนสิ้นรัชกาล นับว่าทรงเป็นช่างถ่ายหนังประจำราชสำนักโดยแท้

ชาวสยาม โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ มีโอกาสได้ชมหนังฝรั่งอยู่เป็นระยะๆ โดยคณะฉายหนังเร่จากต่างประเทศที่แวะเวียนเข้ามาปีละ 3-4 ราย เช่าโรงละครบ้าง โรงแรมบ้าง หรือเช่าที่ว่างกางกระโจมชั่วคราวบ้าง เป็นที่จัดฉาย ซึ่งชาวสยามให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แต่น่าสังเกตว่าเวลาผ่านไปหลายปีก็ยังไม่มีใครจัดตั้งโรงฉายหนังฝรั่งเป็นการถาวรเลย คงมีแต่คณะฉายหนังเร่จาก ต่างประเทศเดินทางผ่านเข้ามาจัดรายการฉายหนังฝรั่งเป็นครั้งคราว จนกระทั่งปี พ.ศ.2447 มีคณะฉายหนังเร่ชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาจัดฉายหนังฝรั่งในสยาม และคงเล็งเห็นว่าชาวสยามนิยมมหรสพชนิดนี้มาก ในปีรุ่งขึ้น คณะฉายภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่นจึงเดินทางกลับเข้ามาอีกและเช่าที่ว่างเวิ้งหลังวัดตึก ถนนเจริญกรุง ตั้งโรงฉายหนังฝรั่งเป็นโรงถาวรรายแรกของสยาม เปิดฉายหนังประจำ ชาวสยามจึงได้ดูหนังฝรั่งกันทุกคืน และเลยค่อยๆ เปลี่ยนเรียกมหรสพชนิดนี้ว่า หนังญี่ปุ่น แทนคำว่าหนังฝรั่ง

ฉบับพรุ่งนี้ (19 ก.ย.) พบที่มาของคำว่า ภาพยนตร์ และการฉาย “หนัง” ในสยาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน